สังคม

ทนายอนันต์ชัยแจงปม เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ถูกร้องสอบ รื้อกุฏิโดยมิชอบ ซัดเป็นเรื่องขัดแย้งผลประโยชน์

โดย paranee_s

13 ก.พ. 2566

511 views

ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม พร้อมด้วยนายอำเภอปากเกร็ด ,ผู้อำนวยสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดนนทบุรี ,ไวยาวัจกร ,ดร.จวน คงแก้ว กรรมการวัด และสถาปนิก ได้ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่นายศรีสุวรรณ ยื่นหนังสือร้องเรียนกล่าวโทษ “หลวงพ่อปัญญานันทมุณี” หรือพระราชวัชรธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ว่า ท่านรื้อกุฏิพระในเขตกัมมัฏฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และรื้อทำลายต้นศรีมหาโพธิ์ จากพุทธคยาเจดีย์ ประเทศอินเดีย พร้อมป้ายแสดงรายละเอียดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่10 สมัยดำรงอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช ทรงมอบให้ปลูกไว้ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อันเป็นความผิดข้อหา “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และหมิ่นเบื้องสูง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 157 อันเป็นความเท็จ ณ ชั้น4 อาคารสุคติสถาน วัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (13 ก.พ.66)


โดยทนายอนันต์ชัย เปิดเผยว่า การรื้อกุฏิพระภายในเขตกัมมัฎฐานนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ได้พัฒนาวัดตามภารกิจคณะสงฆ์ 6 ด้าน มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ซึ่งมีที่ดิน 59 ไร่เศษ แบ่งเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตพุทธานุภาพ และเขตธรรมมานุภาพ เนื้อที่ 37 ไร่ ซึ่งได้มีการพัฒนาเสร็จเรียบร้อย ส่วนเขตสังฆานุภาพ หรือเขตกัมมัฏฐาน ซึ่งมีเนื้อที่ 22 ไร่ และอยู่ในสภาพทรุดโทรมสมควรที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ทางวัดฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน พร้อมทั้งจัดเรือนรับรองเพื่อให้พระที่อยู่ในเขตกัมมัฏฐานย้ายมาจำวัดยังสถานที่ทางวัดจัดให้


แต่ปรากฏว่า พระที่อยู่ในเขตกัมมัฏฐาน จำนวน 36 รูป และฆราวาส จำนวน 35 คน เกิดความไม่พอใจเพราะว่าสูญเสียผลประโยชน์ จึงทำให้พระ และฆารวาสกลุ่มนี้ ออกมาร้องเรียนหลวงพ่อปัญญานันทมุณี และคณะกรรมการบริหารวัด ว่าดำเนินการรื้อกุฏิพระโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้พระภิกษุสงฆ์เดือดร้อนสิ้นเปลืองงบประมาณ


อีกทั้งการรื้อที่บรรจุอัฐิเป็นการรื้อโดยมิชอบ ทำให้ญาติพี่น้องของผู้ตายได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจ โดยทำหนังสือร้องเรียนถวายฎีกาพระเจ้าอยู่หัวฯ ,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ,ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมถึงทำหนังสือร้องเรียนมายังตนเอง ในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 อีกด้วย


ต่อมา ตนเองได้ให้ทีมทนายกองทัพธรรมเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง จนทราบความจริงว่า การพัฒนาวัดชลประทานรังสฤษฏ์ของเจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน และคณะกรรมการบริหารวัด เป็นการกระทำไปตามหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 37 (1) หรือไม่


และจากการตรวจสอบทราบว่าการพัฒนาวัดได้มีการตั้งคณะกรรมการทั้งส่วนราชการ และเอกชน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความสามารถมากมายเข้ามาดำเนินงาน ซึ่งได้พัฒนาไปแล้ว 2 ส่วน คือเขตพุทธานุภาพ และธรรมานุภาพ เนื้อที่ 37 ไร่ คงเหลือแต่เขตสังฆานุภาพ ซึ่งคณะกรรมการวัดกำลังจะพัฒนา แต่กลับถูกพระสงฆ์ และฆราวาสจำนวนหนึ่งที่ต้องสูญเสียผลประโยชน์ขัดขวางไว้ เพราะว่าหากมีการรื้อถอนกุฏิ หรือย้ายอัฐิไปยังที่ใหม่จะทำให้ไม่ได้รับปัจจัยต่างๆ ในการบำเพ็ญกุศลอัฐิของผู้วายชนม์


อีกทั้ง การอยู่ของพระสงฆ์กลุ่มนี้อยู่กันอย่างอิสระไม่สามารถควบคุมดูแลได้ ไม่อยู่ในโอวาสของเจ้าอาวาส และมิได้ร่วมทำสังฆกรรมกับทางวัด เมื่อมีการบริจาค หรือทำบุญก็มิได้นำเงินเข้ามาให้วัด ประกอบกับสถานที่ก็ชำรุดทรุดโทรมเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้พระภิกษุสงฆ์ และฆราวาสกลุ่มดังกล่าว จึงออกมาร้องเรียน และต่อต้านเจ้าอาวาสฯ จึงเป็นเหตุที่มูลนิธิทนายกองทัพธรรมไม่รับทำเรื่องดังกล่าวตามที่ร้องเรียน


ดังนั้น เมื่อมูลนิธิทนายกองทัพธรรมไม่ดำเนินการเรื่องดังกล่าว ทำให้พระสงฆ์ และฆราวาสกลุ่มนี้ จึงไปร้องเรียนนายศรีสุวรรณ จรรยา โดยให้ข้อมูลผิดๆ ขาดการตรวจสอบ และไตร่ตรองตามสไตล์ของนายศรีสุวรรณ จรรยา “ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด” ก่อนที่จะยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ตรวจสอบพระราชวัชรธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์


ทางด้าน ดร.จวน คงแก้ว ผู้ช่วยเลขานุการ และกรรมการวัด ฝ่ายฆารวาส กล่าวว่า เขตกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นเขตที่ถูกปล่อยปละละเลยมานานกว่า 62 ปี ไม่มีการพัฒนาเลย ทางวัดจึงได้มีแผนที่จะพัฒนาวัดฯ ในโครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุขฯ” ตามมติเถรสมาคม ซึ่งตนเองในฐานะกรรมการวัด จึงได้หารือกับสถาปนิก เพื่อเข้าพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าว


โดยสถาปนิกแนะนำให้ปรับพื้นที่สูงขึ้นจากเดิมอีก 1.20 เมตร เพื่อรองรับการก่อสร้างกุฏิ ซึ่งแบบการก่อสร้างกุฏินั้น ทางสถาปนิกออกแบบในรูปแบบทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวจำนวน 12 คูหา จำนวน 5 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีพระหัวหน้ากลุ่ม 1 รูป คอยกำกับดูแล


นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาพื้นที่เขตกัมมัฏฐานยังมีศาลาสนทนาธรรม มีห้องสมุด และห้องต้อนรับ หากพระสงฆ์ในกลุ่มมีญาติโยมมาหา ก็จะต้องติดต่อพระที่ปฏิบัติทำหน้าที่ต้อนรับด้านหน้าทางเข้า ก่อนที่จะให้เข้าไปพบกันในจุดที่ทางวัดจัดให้ โดยห้ามเข้าพบในกุฏิเด็ดขาด สำหรับการทำเช่นนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในเขตกัมมัฏฐาน


ทั้งนี้ ทนายอนันต์ชัยฯ ระบุว่า ทางพระราชวัชรธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสกฤษฏ์ ได้ออกคำสั่งให้พระทั้ง 36 รูป ออกจากเขตสังฆานุภาพ เพื่อย่ายไปจำวัดยังเรือนรับรอง ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันนี้ หากไม่ออกจะถือว่า เป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และหากไม่ออก เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสกฤษฏ์ จะมีคำสั่งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 (2) โดยให้ออกไปเสียจากวัด ตามคำแนะนำของมูลนิธิทนายกองทัพธรรม ในฐานะเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และผู้ดูแลด้านกฎหมายของวัดชลประทานรังสกฤษฏ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ