สังคม

เกษตรกรชาวตรัง จดสิทธิบัตรปลูกถั่วฝักยาว ติดจีพีเอสทุกฝัก เจ้าแรกของไทย

โดย nicharee_m

9 ก.พ. 2566

20.1K views

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จ.ตรัง หันมาเอาดีทางการเกษตรด้วยการสร้างโรงเรือนปลูกถั่วฝักยาวปลอดสารพิษ พร้อมติดป้ายข้อมูล จีพีเอสแหล่งผลิตตั้งแต่อยู่ในโรงเรือนจนส่งถึงมือผู้บริโภค สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เจ้าตัวเผยได้จดสิทธิบัตรการสร้างสัญลักษณ์ผลผลิตเป็นรายแรกของไทยและเป็นรายแรกของโลกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา พร้อมปลูกแตงกวาโดยใช้ชันโรงเป็นตัวผสมเกสรแทนคนด้วย

วันนี้ (9 ก.พ.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนของนายประทิ่น วรรณงาม เลขที่ 202 หมู่ที่ 4 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง มีการปลูกถั่วฝักยาวในโรงเรือนจำนวน 4 โรง แต่ละโรงมีถั่วฝักยาวมากกว่า 130 ต้น โดยใช้เวลาปลูก 45 วันก็สามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งนายประทิ่นฯ เป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรฯ สำนักงานเกษตร จ.ตรัง ทำให้มีความรู้เรื่องพืชเป็นอย่างดี จึงนำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมานานหลายปี หันมาปลูกถั่วฝักยาวปลอดสารพิษ เนื่องจากเห็นว่า ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ใช้สารเคมีมากที่สุด และมีประชาชนซื้อไปบริโภคมากเป็นลำดับต้น ๆ ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

นายประทิ่นฯ จึงคิดใหม่ ทำใหม่ด้วยการติดคิวอาร์โค้ต ข้อมูลการผลิต สถานที่ผลิต ชื่อเจ้าของแปลง เบอร์โทรศัพท์และจีพีเอส ลองติจูด ละติจูด ซึ่งป้อนข้อมูลเข้ากูเกิลหาตำแหน่งทางดาวเทียมได้ เพื่อให้ผู้บริโภคและหน่วยงานด้านการตรวจสอบ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตั้งแต่ถั่วอยู่ในโรงเรือนจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค โดยไม่มีสารปนเปื้อน 100%

ซึ่งเกษตรกรได้จดสิทธิบัตรเป็นชื่อของตัวเองในนาม “การสร้างสัญลักษณ์ผลผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว” โดยป้ายข้อมูลจะติดอยู่ที่ฝักถั่วทุกฝัก ไม่สามารถแกะออกได้จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า เป็นถั่วฝักยาวที่ปลอดภัยตั้งแต่ในโรงเรือนจนถึงปลายทาง โดยมีการจดสิทธิบัตรมานานถึง 10 ปีแล้ว และนับเป็นคนไทยคนแรกของประเทศและคนแรกของโลก สร้างความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก


โดยที่ผ่านมา นายประทิ่นฯ มีงานล้นมือ ทำให้ทำงานส่วนตัวไม่เต็มเวลา และผลผลิตถั่วฝักยาวที่ได้ ได้นำไปแจกเพื่อนๆ และนำไปออกงานตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เป็นที่รู้จักของตลาด ก่อนจะเปิดตัวออกวางจำหน่ายครั้งแรกราวเดือนมีนาคมนี้ในราคากล่องละ 39 บาท น้ำหนัก 2 กรัมหรือประมาณ 8-9 ฝัก

นอกจากนี้ เกษตรกรยังปลูกแตงกวาในโรงเรือน โดยใช้ชันโรง (ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า อุง) เพื่อใช้ในการผสมเกสรแทนคนด้วย เนื่องจากในโรงเรือน แมลงไม่สามารถเข้าไปได้ ประกอบกับคนไม่มีเวลา จึงต้องอาศัยชันโรงเป็นตัวช่วยผสมเกสรแทน ปรากฏว่าได้ผลดี แตงกวาเริ่มให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ โดยจะเก็บแตงกวาปลอดสารได้ภายในสัปดาห์นี้


ด้านนายประทิ่น วรรณงาม เกษตรกรผู้ปลูกถั่วฝักยาวในโรงเรือนและเป็นเจ้าของสิทธิบัตรฯกล่าวว่า ในการผลิตถั่วฝักยาวของตน ต้องการสื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าผลผลิตที่เขาซื้อไปนั้น มีความปลอดภัยบริโภคได้ด้วยความมั่นใจ เนื่องจากถั่วฝักยาวของตนมีอุปกรณ์ควบคุมข้อมูลผลผลิตติดอยู่ทุกฝัก

พูดง่ายๆ ว่าถั่วทุกฝัก ผักทุกต้นของที่นี่จะมีข้อมูลติดอยู่ทั้งหมด ข้อมูลนั้นจะแสดงรายละเอียดตั้งแต่ชื่อการผลิต วิธีการผลิต สถานที่ผลิต จะมีพิกัดจีพีเอสติดอยู่ทุกฝักและติดแบบถาวร ตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยวอยู่ในโรงเรือนจนถึงมือผู้บริโภค ไม่สามารถใส่เข้าหรือถอดออกได้ ทำให้เรื่องการปลอมปนหมดความกังวลไปได้ ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ผู้บริโภคสามารถที่จะจำแนกความแตกต่างได้ ด้วยสายตาปกติไม่ต้องกลัวการปลอมปน เพราะถั่วของเรามีเอกลักษณ์โดยมีอุปกรณ์ควบคุมข้อมูลติดอยู่ทุกฝัก

แต่หากยังข้องใจอยู่สามารถไปดูที่พิกัดจีพีเอส ทุกฝักจะมีตำแหน่งที่ผลิตเป็นละติจูดและลองติจูด ผู้บริโภคสามารถป้อนข้อมูลตำแหน่งในกูเกิ้ล กดละติจูด ลองติจูดลงไป จะพบตำแหน่งทางดาวเทียมปรากฏอยู่ ก็สามารถติดตามมาถึงแปลงได้ทุกฝัก ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยก็สามารถมาถึงแปลงได้ โดยดูจากฝักถั่ว

นอกจากจะเป็นรายแรกของ จ.ตรังแล้ว ตนคิดว่าตนเป็นรายแรกของโลกด้วย เพราะตนได้จดสิทธิบัตรไว้ประมาณ 10 ปีแล้วในชื่อของตัวเอง แต่ตนเพิ่งมีเวลาในการผลิต โดยจดเป็นชื่อการสร้างสัญลักษณ์ผลผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว โดยยังไม่ได้วางขายที่ไหน แต่จะขายที่ จ.ตรัง เป็นที่แรก คาดต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนจึงจะนำออกขายได้ สำหรับเกษตรกรผู้สนใจติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 081-078-6909


แท็กที่เกี่ยวข้อง  ถั่วฝักยาวติดจีพีเอส

คุณอาจสนใจ