สังคม

3 เสือน้อยนอนหลับปุ๋ยตลอดทาง ย้ายจากอุบลฯ ถึงศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก

โดย nutda_t

18 ม.ค. 2566

304 views

วันที่ 18 มกราคม 2566 เวลา 05.00 น. ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล ขนย้ายลูกเสือโคร่งของกลาง จำนวน 3 ตัว ตามที่ได้ดำเนินการจับกุม เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 65 (คดีอาญา 1684/65 ยึดทรัพย์ 250) จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) มาเลี้ยงดูแล ณ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว



โดยคณะเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ดำเนินการส่งมอบ-รับมอบ ลูกเสือโคร่งของกลาง ตามคดีอาญาที่ 1684/2565 ยึดทรัพย์ที่ 250/2565 จำนวน 3 ตัว ได้แก่ มุกดา เพศเมีย สะหวัน เพศเมีย และข้ามโขง เพศผู้ โดยมีนายธีระยุทธ วงศ์ไพเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) แทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เป็นผู้ส่งมอบ นางสาวธชพรรณ ลีลาพตะ นายสัตวแพทย์ และนางสาวมาริษา ชุ่มวิจิตร นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้รับมอบ



การเคลื่อนย้ายลูกเสือโคร่งดังกล่าวข้างต้น ใช้รถยนต์ราชการ 2 คัน เคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนางสาวธชพรรณ ลีลาพตะ และนางสาวมาริษา ชุ่มวิจิตร นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้แทนเป็นผู้ควบคุมการขนย้าย พร้อม สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) และ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก คณะทำงานผู้ดูแลสุขภาพลูกเสือโคร่งระหว่างการเคลื่อนย้าย



คณะเริ่มทำการขนย้ายตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00 น. ของวันที่ 17 ม.ค. 2566 และเดินทางถึงยังศูนย์พัฒนาฯ บึงฉวากเวลา 03.33 น. ของวันที่ 18 ม.ค. 2566 เป็นที่เรียบร้อย รวมระยะเวลา 8 ชั่วโมง 33 นาที ตลอดการเดินทางไม่เกิดเหตุฉุกเฉิน สภาพร่างกายลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว ปกติ นอนหลับตลอดการเดินทาง ซึ่งปกติแล้วลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว จะมีพฤติกรรมนอนหลับช่วงเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ทีมสัตวแพทย์จึงวางแผนการเดินทางเป็นช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังมีพี่เลี้ยงดูแลลูกเสือโคร่งทั้งง 3 ตัว อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบความผิดปกติจะทำการแจ้งทีมสัตวแพทย์ สัตวบาลทันที ภารกิจขนย้ายลูกเสือโคร่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย



ทั้งนี้ขณะนำส่งลูกเสือโคร่ง 3 ตัว นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ร่วมกับผู้เลี้ยงได้อุ้มลูกเสือนำไปใส่กรง ท้ายรถตู้ ระหว่างนั้นสัตวแพทย์หญิง คชรินทร์ ราชสินธุ์ กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ด้วยความผูกพันและคุ้นชินกับลูกเสือทั้ง 3 ตัว ด้านนายชัยวัฒน์ ฯ ให้เหตุผลว่า "การที่ลูกเสือ ทั้ง 3 ตัว ไปอยู่ที่ศูนย์พัฒนาฯบึงฉวาก เป็นข้อดีมากกว่า ในทุกๆด้าน ทั้งด้านงบประมาณ ที่สถานีเพาะเลี้ยงจุฬาภรณ์ มีไม่เพียงพอ ด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ศูนย์พัฒนาฯบึงฉวาก มีความพร้อมกว่าแน่นอน รวมถึงด้านบุคลากร ที่สถานีเพาะเลี้ยงจุฬาภรณ์มีน้อยกว่ามาก อีกทั้งที่ศูนย์พัฒนาฯบึงฉวากมีความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ และยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลลูกเสือทั้ง 3 ตัวนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ