สังคม

พาดูความสำเร็จ 'ป่าชุมชนลดโลกร้อน' แห่งแรกของไทย ฟื้นเขาหัวโล้นสู่พื้นที่สีเขียว

โดย panwilai_c

24 ธ.ค. 2565

90 views

นับตั้งเเต่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมาย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ต่อเนื่องมาถึงการประชุมครั้งล่าสุดใน COP27 "เศรษฐกิจสีเขียว" หรือ BCG โดยเฉพาะประเด็นปลูกเเละดูเเลรักษาป่า สร้างรายได้จากการกักเก็บคาร์บอนเครดิต ถูกพูดถึงมากในเวทีระดับโลก สำหรับประเทศไทยเริ่มขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งเเล้ว



ข่าว 3 มิติ จะพาไปดูตัวอย่างป่าชุมชนลดโลกร้อนเเห่งเเรกของไทย บนเนื้อที่กว่า 1,300 ไร่ ในอำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยชาวบ้านร่วมกับกรมป่าไม้ พลิกฟื้นเขาหัวโล้นจนกลายเป็นผืนป่า มุ่งสู่ตลาดคาร์บอน



จากเขาหัวโล้นเเละพื้นที่โล่งเสื่อมโทรม เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน เปลี่ยนสภาพกลายเป็นเเหล่งอาหารเเละเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ บนเนื้อที่ราว 1,300 ไร่ ใกล้หมู่บ้าน ที่นี่คือป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง ตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี



ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง นับเป็นแห่งแรกที่ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งเเต่วันที่ 18 กันยายน 2558 โดยกรมป่าไม้ ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ภาคเอกชนเเละสถาบันการศึกษา



จากข้อมูลกรมป่าไม้ พบว่า ในห้วง 7 ปีที่ผ่านมา ความสมบูรณ์ของที่นี่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า เเละเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง มากถึง 5,259 ตัน จึงนับเป็นป่าชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต



ปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม มีหน่วยงานที่ลงพื้นที่ เข้าสำรวจตรวจวัดเเละทำการกักเก็บปริมาณคาร์บอน ตามมาตรฐานสากล โดยปริมาณที่กักเก็บได้ นอกจากความบูรณ์ทางระบบนิเวศ ยังสามารถขายเเละเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชน



จากกราฟิก จะเห็นว่า ต้นไม้หนึ่งต้นมีประโยชน์มาก หนึ่งต้นสามารถกักเก็บได้ 1-1.7 ตันคาร์บอน / เริ่มจากใบ คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ / กิ่ง 11 เปอร์เซ็นต์ / ราก 26 เปอร์เซ็นต์ เเละที่ลำต้นกักเก็บได้มากถึง 62 เปอร์เซ็นต์



นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ บอกว่า ปัจจุบันมีการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว 12,117 แห่งทั่วประเทศ รักษาพื้นที่ป่าได้ 6.64 ล้านไร่ หากดำเนินการทุกพื้นที่รวมกัน จะสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ได้ 42 ล้านตันคาร์บอน โดยคาดว่าจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 6.27 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งกรมป่าไม้ กำลังต่อยอดโมเดลนี้ไปทั่วประเทศ

คุณอาจสนใจ