สังคม

TTF AWARD มอบผลงานวิชาการทรงคุณค่า นำสังคมไทยสู่ยุค ‘ปัญญาวิจิตร’

โดย attayuth_b

13 ธ.ค. 2565

25 views

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับงานค้นคว้าวิจัยมาถึง 28 ปี ผ่านการมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น หรือ ‘TTF AWARD’ กระตุ้นคนรุ่นใหม่และนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจผลิตผลงานใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

ศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิง ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า TTF AWARD มีเจตนารมณ์ส่งเสริมให้เกิดผลงานด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาทางสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ผลงานส่วนมากที่ได้รับรางวัลจะมุ่งนำเสนอเนื้อหาที่อ่านเข้าใจง่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สามารถเข้าถึงเยาวชน รวมทั้งถ่ายทอดแก่ประชาชนทั่วไป มิใช่อ่านยากจนเกินไปหรือต้องเก็บไว้บนหิ้งเท่านั้น แต่นำมาต่อยอดสร้างสรรค์เรียนรู้ก้าวสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาได้อย่างเป็นรูปธรรมประวัติศาสตร์คือกระจกส่องอนาคต

ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัล TTF AWARD ประจำปี 2564-2565 จัดขึ้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมี คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย พร้อมด้วยคุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมเป็นประธานมอบรางวัลให้แก่ 5 ผลงานทรงคุณค่า ประกอบด้วย รางวัลเกียรติยศ ได้แก่ ผลงานชื่อ “ใต้ร่มพระบารมี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บุรพกษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์” โดยคณะบรรณาธิการจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา  

รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า คณะบรรณาธิการฯ ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ศึกษาประวัติศาสตร์มาตลอดชีวิต มิใช่เพียงการนำพระราชพงศาวดารมาเขียนเท่านั้นแต่มีกระบวนการประมวล สังเคราะห์ และศึกษาวิจัยเอกสารหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ เรียบเรียงแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน หนึ่งคือการสร้างบ้านแปลงเมืองสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ สองคือการต่อสู้ในยุคจักรวรรดินิยมชาติตะวันตก และสามคือการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย ทำให้เราได้เห็นคุณค่าเรื่องราวต่างๆ และได้รู้จักตนเองมากยิ่งขึ้น

“ประวัติศาสตร์เป็นกระจกบานหนึ่งที่ช่วยสะท้อนว่า กว่าจะมาเป็นเราในปัจจุบัน บ้านเมืองผ่านวิกฤตอะไรมาบ้างและบรรพบุรุษทำอย่างไรในการผ่านพ้นปัญหาแต่ละด้าน ยุคนั้นมีข้อจำกัดปัจจัยอะไรที่นำไปสู่การตัดสินใจ นำพาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัยประชาชนเป็นสุข ทำให้เยาวชนรับรู้บทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชนที่ร่วมกันทำให้ประเทศเดินหน้ามาจนถึงวันนี้”

ขณะที่ผลงานวิชาการดีเด่น แบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านสังคมศาสตร์ ได้แก่ ผลงานชื่อ “อัตลักษณ์เอกสาร วงศาวิทยาการควบคุมประชากรของรัฐไทย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นงานวิจัยบทบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองทางสังคมที่ไขคำตอบว่ารัฐใช้สิ่งใดแยกแยะพลเมืองไทยและควบคุมคนต่างด้าวในยุคสมัยต่างๆ สามารถบ่งบอกว่าแต่ละคนคือใคร ยกตัวอย่างการสักบนร่างกายไปจนถึงจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย นำมาผูกความสัมพันธ์เชิงอำนาจบริหารจัดการสอดคล้องกับยุคสมัย

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้วิจัยได้ลงลึกศึกษาประวัติศาสตร์การระบุตัวตนบุคคลที่อยู่ภายใต้ราชอาณาจักรไทยว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีชื่อเรียกอย่างไร อัตลักษณ์เอกสารเหล่านี้มีการออกแบบวิธีใช้กับคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน เช่น ไพร่ ทาส คนจีน คนนอก คนต่างด้าว ฯลฯ เนื้อหาหนังสือจึงน่าสนใจสะท้อนการแบ่งแยกคนโดยอำนาจ ศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งทุกชาติสามารถนำไปศึกษาร่วมกันได้

2) ด้านมนุษยศาสตร์ ได้แก่ ผลงานชื่อ “ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย : ตะวันตกและไทย” โดยศาสตราจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ค้นคว้าโฉมหน้าประวัติศาสตร์ผ่านงานศิลปะทั้งไทยและต่างประเทศ สะท้อนความคิดคำนึงของศิลปินที่อยู่เบื้องหลังและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานเบื้องหน้าที่ประสบความสำเร็จ ทำให้การชื่นชมผลงานศิลปะเหล่านี้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น

“หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานการวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์อย่างรวดเร็ว เมื่อศึกษาอดีตก็ย่อมจะเข้าใจปัจจุบันได้ดี เหมาะกับผู้สนใจงานศิลปะ วัฒนธรรม และการออกแบบต่างๆ ใช้ภาษาง่ายๆ เข้าใจได้ไม่ยาก” ศาสตราจารย์สุธี ระบุ

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกพงษ์ ตรีตรง คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวเสริมว่า สิ่งที่ศิลปินได้ถ่ายทอดมิใช่แค่ความงดงามแต่ยังซ่อนรหัสที่ลึกซึ้งไว้ให้สังคมและประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้หล่อหลอมเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันซึ่งมีการใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” ขับเคลื่อนประเทศและเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค “ปัญญาวิจิตร” ที่ต้องอาศัยความรู้ความงามทางศิลปะควบคู่กันไปเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น

3) ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ ผลงานชื่อ “การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เนื้อหาสะท้อนการยกระดับมาตรฐานระบบสาธารณสุขและลดสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติภัยบนท้องถนน จัดทำเป็นคู่มือการดูแลผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ การนำความรู้ไปฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และจิตอาสากู้ชีพ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ต่างๆ

พลอากาศตรี นายแพทย์เฉลิมพร บุญสิริ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และ ประธานอนุกรรมการฉุกเฉินการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงมากกว่า 100 คนต่อวัน ดังนั้น การดูแลผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ การให้ยา การช่วยเหลือผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น (CPR) อย่างถูกต้อง ระบบอำนวยการทางการแพทย์ที่ดีผ่านสายด่วน 1669 จึงสำคัญ รวมถึงการนำส่งไปสถานพยาบาลที่เหมาะสมไม่ให้เสียชีวิต พิการ และกลับคืนสู่สังคมในสภาพดีที่สุด

4) ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผลงานชื่อ “พันธุศาสตร์ระดับเซลล์” โดย ศาสตราจารย์ ดร.อลงกลด แทนออมทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ ปิ่นทอง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ ปะทะวัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับผลงานวิจัยที่อธิบายกลไกการทำงานในเซลล์อย่างง่ายและมีภาพประกอบชัดเจน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจต่อยอดความรู้สู่วิชาชีพในอนาคต สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศบนฐานของวิทยาศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เพลินพิศ โชคชัยชำนาญกิจ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อกลไกที่เกิดขึ้นของระบบเซลล์ โดยทีมผู้ประพันธ์ทั้งสามท่านล้วนมีประสบการณ์วิจัยด้านเซลล์พันธุศาสตร์มายาวนานและอยู่หน้ากล้องจุลทรรศน์เพื่อมองหาคำตอบต่างๆ จนกว่าจะได้งานวิจัยชิ้นหนึ่งจึงต้องอุทิศแรงกายแรงใจ นับเป็นผลงานที่มีคุณค่ามากต่อศาสตร์ด้านชีววิทยา

บทสรุปของรางวัล TTF AWARD ประจำปี 2564-2565 ได้สะท้อนให้เห็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของระบบการศึกษาไทย ที่มีนักวิชาการมากมายเป็นกลไกสำคัญบ่มเพาะผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตท่ามกลางโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ช่วยให้เราผ่านพ้นสถานการณ์ท้าทายกับภาวะ ‘วิกฤต’ และก้าวสู่ความ ‘วิจิตร’ แห่งภูมิปัญญาได้อย่างน่าสนใจ




แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ