สังคม

เครือข่ายทวงคืนชายหาด ปักหลักหน้าทำเนียบฯ เรียกร้อง ครม แก้ปัญหากำแพงกันคลื่น

โดย paranee_s

7 ธ.ค. 2565

188 views

วันนี้ (7 ธ.ค.) กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กรต่างๆ 94 องค์กร ปักหลักชุมนุมด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นของรัฐบาล โดยผู้ชุมนุมมองว่า การดำเนินการป้องกันชายฝั่งที่ผ่านมาของรัฐบาลนั้น สร้างปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เนื่องจากรัฐบาลเลือกใช้มาตรการป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยเฉพาะการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นและได้ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยกลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันนั้น ได้เกิดกระแสการคัดค้านโครงการของรัฐในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากภาคประชาชนและชุมชนในหลายพื้นที่ชายหาด


ทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและความขัดแย้งภายในชุมชนจากการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล เช่น การให้กรมโยธาธิการและผังเมือง มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตาม มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมืองกลายเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการป้องกันชายฝั่ง


อีกทั้ง การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากกิจการหรือโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2556 ทำให้หลักประกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนและชุมชนนั้นหายไป ทำให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการตรวจสอบความโปร่งใสและความถูกต้องของโครงการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง อาศัยช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดในประเทศไทย จนเกิดการระบาดของกำแพงกันคลื่นอันเป็นเหตุให้ชายหาดไทยถูกทำลายจนอยู่ในภาวะวิกฤต


จากข้อมูลการใช้งบประมาณในการป้องกันชายฝั่ง ด้วยการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่าหลังการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น 125 โครงการทั่วทุกชายหาดในประเทศไทย ใช้งบประมาณในการดำเนินการรวม 8,487,071,100 บาท โดยกรมเจ้าท่าดำเนินการโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น จำนวน 18 โครงการ งบประมาณ 1,792,171,000 บาท ในส่วนกรมโยธาธิการฯ ดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น 107 โครงการ ใช้งบประมาณ 6,694,899,400 บาท รวมระยะทางการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเฉพาะของกรมโยธาธิการ 70.413 กิโลเมตรตลอดแนวชายฝั่ง จากตัวเลขการใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนให้เห็นว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กลายเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมากที่สุดต่อเนื่องทุกปี แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุในการทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่พี่น้องประชาชนภายในชุมชนที่กรมโยธาธิการฯเข้าไปดำเนินโครงการ


นอกจากนั้นโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ยังสะท้อนความไม่จำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ เช่น กรณีชายหาดมหาราช ชายหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา, หาดแม่รำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหาดดอนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งชายหาดไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง เป็นเพียงการกัดเซาะชายฝั่งชั่วคราวในช่วงมรสุมบางฤดูกาล และชายหาดสามารถฟื้นฟูคืนสภาพกลับได้ แต่กรมโยธาธิการฯกลับดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น


โดยกรณีชายหาดม่วงงาม ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งชะลอโครงการกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามไว้ ด้วยเหตุผลที่สภาพชายหาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง และโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดม่วงงามจากกรมโยธาธิการฯ จึงไม่มีความจำเป็น หรือแม้แต่กรณีชายหาดดอนทะเล ที่กรมโยธาธิการต้องเพิกถอนโครงการด้วยเหตุผลสภาพชายหาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง และชุมชนมีมติไม่ต้องการโครงการดังกล่าว ทั้งหมดนี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน ถึงความไม่จำเป็นของกำแพงกันคลื่นที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการฯ


ซึ่งโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชายหาด ทำให้ชายหาดนั้นหายไปอย่างถาวร ดังที่เกิดขึ้นกับชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาดแหลมเสด็จ จังหวัดจันทบุรี หาดทรายแก้ว จังหวัดสงขลา หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น


ชายหาดเหล่านี้ได้รับความเสียหายจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ทั้งสิ้น และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในหลายพื้นที่ที่มีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว เช่น หาดชะอำ หาดปราณบุรี ได้สร้างความเสียหายให้การท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการร้านค้าในแถบหาดท่องเที่ยวนั้นรายได้สูญลงอย่างชัดเจน


จากปัญหาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า การเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ การให้อำนาจกรมโยธาธิการฯ ซึ่งไม่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาชายฝั่งทะเลที่มีความซับซ้อนและเป็นพลวัตนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรหาดทราย ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของชุมชน ในฐานะเป็นพื้นที่แห่งชีวิต เป็นพื้นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพื้นที่แห่งความสุขของประชาชนที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรหาดทราย


เมื่อหาดทรายถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่นจากกรมโยธาธิการฯ วิถีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการมีหาดทรายได้ถูกทำลายไปด้วย


กลุ่ม Beach for life และ ภาคีเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด 94 องค์กร ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการ 3 ข้อเรียกร้องสำคัญนี้ เพื่อคุ้มครองและปกป้องชายหาดจากการถูกทำลายด้วยกำแพงกันคลื่นและกรมโยธาธิการและผังเมือง


1. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแก้ไขมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการฯไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า กรมโยธาธิการฯ สร้างความเสียชายหาดต่อทรัพยากรชายหาด ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด

2. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น

3. ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม


กลุ่ม Beach for life และ ภาคีเครือข่ายทวงคืนชายหาด 94 องค์กร ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามข้อเสนอที่ทางกลุ่ม Beach for life และเครือข่ายฯ เรียกร้องโดยเร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองพื้นที่หาดทรายซึ่งเป็นทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำลังถูกคุกคามและทำลายการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง


ล่าสุดนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เดินทางมาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม ว่าเบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยในหลักการของกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันหารือ ตามข้อเสนอของชาวบ้าน


แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่พอใจ โดยระบุว่าแม้รัฐมนตรีฯจะบอกเห็นด้วย แต่ยังไม่มีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงจะเดินหน้าปักหลักชุมนุมต่อไป โดยจะมีการเรียกมวลชนมาสมทบหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะถ้ารัฐมนตรีฯวราวุธ ไม่ลงนาม ก็เท่ากับการไม่จริงใจในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง


ต่อมาเวลา 15.00 น. กลุ่ม Beach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าจากหน้าบริเวณองค์การสหประชาชาติมายังบริเวณหน้า ทำเนียบ ซึ่งจุดนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรึงกำลังและปิดเส้นทาง จึงต้องปักหลักที่ เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ โดยทางกลุ่มได้นำป้ายผ้า และนั่งปักหลักรออยู่บริเวณแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ พร้อมได้ประสานขอให้ทางรัฐบาลส่งตัวแทนออกมารับข้อเรียกร้อง ของกลุ่ม


ซึ่งในเวลา 16.00 น. นาย อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน กลุ่ม Beach for life ได้ออกแถลงการณ์ ถึงจุดยืนของการมาปักหลักเรียกร้องยังจุดนี้ โดยทางกลุ่มจะปักหลักเรียกร้อง 3 ข้อเดิม พร้อมขอให้ทาง ครม. รับข้อเรียกร้องทั้ง 3 เพื่อพิจารณา นำไปสู่แนวทางปฏิบัติ เพราะทางกลุ่มเรียกร้องมานานกว่า 3 ปี แล้ว แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบกลับใดๆ


ต่อมาในเวลา 17.00 น. ทางนายอิทธิพล ช่างกลึงดี ผู้ช่วยปลัดสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศูนย์ บริการประชาชน สำนักงานปลัด สำนักนายกฯ ได้เดินทางออกมารับเรื่อง โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะนำส่งต่อไปยังการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเร่งรัดติดตามคำตอบของข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ


อย่างไรก็ตามในคืนนี่ทางกลุ่มฯ จะปักหลักค้างคืนในจุดนี้ และ ยืนยันจะปักหลักแสดงจุดยืน อยู่บริเวณ สะพานชมัยมรุเชฐต่อจนกว่าจะได้รับคำตอบตามที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องไป และในเบื้องต้นได้กำหนดเวลาไว้ 1 สัปดาห์เพื่อให้ทาง ครม.นำเรื่องที่เรียกร้องไปพิจารณาแต่หากยังไม่คืบหน้าก็จะปักหลักต่อ

คุณอาจสนใจ