สังคม

ไทยจัดประชุม ICFP แลกเปลี่ยนแนวทางด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ แก้ปัญหาจำนวนประชากรลดลง

โดย chiwatthanai_t

15 พ.ย. 2565

72 views

ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจัดการประชุมเสวนาวิชาการการวางแผนครอบครัวนานาชาติ โดยมีตัวแทนจากประเทศกว่า 125 ประเทศเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ขณะที่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรลดลง ที่อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ สวนทางกับแนวโน้มการเติบโตของประชากรโลก


ตัวแทนนักวิชาการและเครือข่ายนักสิทธิมนุษยชน ขึ้นกล่าววิสัยทัศน์ ในงานประชุมวิชาการการวางแผนครอบครัวนานาชาติ หรือ ICFP ครั้งที่ 6 ท่ามกลางผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 3,500 คน จาก 125 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยได้รับการรับเลือกเจ้าภาพในปีนี้ เนื่องจากความสำเร็จในนโยบายสนับสนุนด้านงานอนามัยและการเจริญพันธุ์


นาย โฮเซ่ โอยิน ริมอน ที่ 2 ผู้อำนวยการสถาบัน Bill&Melinda gates เพื่อประชากรและอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการวางแผนครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราการเกิดสูงสุด จนถึงตอนนี้ไทยสามารถคุมกำเนิดได้สำเร็จสูงสุดถึงกว่า 70% สอดคล้องตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติภายในปี 2573 เพื่อให้ผู้หญิงทั่วโลกเข้าถึงสิทธิตรงนี้อย่างครอบคลุม


อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของไทยในตอนนี้สวนทางกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่มีลูก หรือแต่งงานช้าลง ทำให้อัตราการเกิดที่มีคุณภาพลดลงต่อเนื่อง


จากค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2507 มีเด็กเกิดปีละกว่า 1 ล้านคน จนกระทั่งปี 2562 เป็นต้นมากลับมีเด็กเกิดเฉลี่ยปีละไม่ถึง 6 แสนคน ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศลดลงอยู่ที่ 1.6 คน เท่านั้น หรือ 1 ครอบครัวไม่ลูกไม่ถึง 2 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน


กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับเปลี่ยนนโยบายจากการคุมกำเนิดมาเป็นการส่งเสริมการวางแผนครอบครัว เพื่อเพิ่มคุณค่าประชากร ผ่านนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 จนถึงปี 2569 ว่าด้วยการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ


สิ่งที่น่ากังวลของไทยอีก 1 สิ่ง คือ ผลการศึกษาของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA ที่ร่วมกับกรมอนามัย พบว่ามีอัตราท้องในหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีสถานะเป็นนักเรียน นักศึกษาเกินกว่าครึ่ง ขณะที่ในภาพรวมในทุกช่วงวัยกว่า 60% เกิดจากปัญหาท้องไม่พร้อม



ดร.นาตาเลีย คาเน็ม ผู้อำนวยการบริหาร UNFPA ระบุว่านี่เป็นปัญหาที่ไทยต้องติดตามแก้ปัญหา เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษา และ เกิดผลกระทบตามมาในอนาคต


งาน ICFP จึงเป็นการแลกเปลี่ยนแนวทาง และนวัตกรรมการแก้ปัญหาที่สำคัญของผู้เชี่ยวชาญจากหลายชาติ เพื่อหาแนวทางด้านสิทธิอนามัยและเจริญพันธุ์ ที่เป็นสิทธิพื้นฐานของประชากรกว่า 8,000 ล้านคนทั่วโลก ที่แม้จำนวนประชากรในตอนนี้จะยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีการวางแผนที่ดีย่อมทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพของประชากรและทรัพยากรตามมาในอนาคต

คุณอาจสนใจ