สังคม

เคาะชะลอส่งออก 'โซเดียมไซยาไนด์' จัดระเบียบรัดกุม ป้องกันถูกนำผลิตยาเสพติด

โดย panwilai_c

31 ต.ค. 2565

103 views

คณะทำงานร่วมแก้ปัญหายาเสพติด กระทรวงยุติธรรม เห็นชอบร่วมกันให้ชะลอการส่งเคมีภัณฑ์ชื่อโซเดียมไซยาไนด์ออกไปนอกประเทศ หลังพบการส่งออกไปให้ขบวนการผลิตยาเสพติดที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเคมีภัณฑ์ชนิดนี้ทั้งราคาถูกและใช้ร่วมกับสารเคมีชนิดอื่น เพื่อเป็นสารตั้งต้นผลิตยาบ้า และไอซ์ เฉพาะปีนี้มีผู้นำเข้าโซเดียมไซยาไนด์ถึง 1,156 ตัน แต่ใช้จริงในประเทศราว 310 ตัน ที่เหลือกว่า 800 ตัน ส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน



หลังจากใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อประชุมร่วมกันในวาระแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล คณะทำงานได้มีความเห็นร่วมกันให้ประเทศไทย ชลอการ ส่งออกสารเคมีภัณฑ์ ที่ชื่อโซเดียมไซยาไนด์ หลังจากพบข้อมูลว่าไซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่นำไปรวมกับสารชนิดอื่น กลายเป็นสารตั้งต้นที่นำผลิตยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ถูกส่งผ่านจากประเทศไทย ไปชายแดนโดยเฉพาะเมียนมา



มาตรการนี้จะดำเนินการชั่วคราวเพื่อจัดระเบียบข้อมูลผุ้ส่งออกเคมีภัณฑ์ดังกล่าวให้ชัดเจน ส่วนที่โซเดียมไซยาไนด์ที่ยังจำเป็นต้องใช้ในประเทศ ก็จะควบคุมการใช้ให้รัดกุม



การประชุมดังกล่าว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติดโดยตรง และเชิญกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วย เพราะสารเคมีโซเดียมไซยาไนด์ ไม่จัดเป็นสารเสพติด แต่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่การนำเข้า-ส่งออก ต้องได้รับอนุญาตจากรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสารเคมีชนิดนี้นำไปใช้ในกลุ่มโรงงานชุบโลหะ ในประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ มีเพียงการนำเข้าจากต่างประเทศ



ข้อมูล จากสำนักงาน ป.ป.ส. ระบุว่าเฉพาะปี 2565 นี้ มีการขออนุญาตนำเข้าโซเดียมไซยาไนด์ 1,156.80 ตัน ขณะที่จำนวนส่งออกไปเมียนมา มากถึง 810 ตัน เท่ากับ ใช้จริงในประเทศ 310 ตัน เท่านั้น โซเดียมไซยาไนด์ 1 กิโลกรัม มีราคาเพียง 100 บาท แต่ 1กิโลกรัมนี้ ผลิตยาบ้าได้ 22000 เม็ด หรือผลิตไอซ์ได้เกือบครึ่งกิโลกรัม



นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.สง ระบุว่าที่ผ่านมา ป.ป.ส.เคยมีการตรวจยึดโซเดียมไซยาไนด์ ที่มีข้อมูลแน่ชัดว่าจะส่งไปโรงงานผลิตยาเสพติด แต่มักถูกร้องเรียนจาก ผู้ประกอบการส่งออกที่อ้างสิทธิ์ว่าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายและต้องการส่งไปในอุตสาหกรรมเหมืองทองที่เมียนมา จึงยังเป็นช่องโหว่เรื่องการควบคุมสารตั้งต้น



ขณะที่นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่าหากนำโซเดียมไซยาไนด์ ไปรวมกับเบนซินคลอโรด์ กลายเป็นเบนซิลไซยาไนด์ ซึ่งจะเป็นสารตั้งต้นยาเสพติด ที่ผ่านมาการส่งออก ต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานรัฐของประเทศปลายทางว่า ใช้สารนี้เพื่ออุตสาหกรรมจริง



ปัจจุบันการอนุญาตให้ส่งออก จะพิจารณาเป็นรายอนุญาตไม่เกิน 6 เดือน โดยมีแนวทางควบคุมเพื่อไม่ให้นำไปผลิตยาเสพติด ต้องทำคิวอาร์โค้ด เพื่อให้ผู้นำเข้า-ส่งออก ลงทะเบียนเป็นรายละเอียด เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต ตามปริมาณที่จะนำไปใช้งานจริง ซึ่งข้อเสนอการชะลอส่งออกโซเดียมไซยาไนด์ คาดว่าจะอยู่ในระหว่าง 3-6 เดือน เพื่อรอจัดสรรโควต้าให้แล้วเสร็จ และเจ้าหน้าที่เชื่่อว่าไม่กระทบกับอุตสาหกรรมที่ใช้งานจริงในเมียนมา เพราะในระหว่าชะลอการส่งออกไปจากไทยนั้น เมียนมาก็ยังนำเข้าโดยตรงจากจีนได้ สำหรับมาตรการดังกล่วา จะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย

คุณอาจสนใจ