สังคม

แบงก์โลกเผยผลวิจัย ลดความยากจนของเกษตรกรไทยชะลอตัว คนจน-เหลื่อมล้ำ พุ่ง

โดย panwilai_c

23 ต.ค. 2565

348 views

ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในประเด็นรายได้ชนบท โอกาสและความท้าทายของเกษตรกรไทย พบว่าความสำเร็จของการลดความยากจนของประเทศไทย ชะลอตัวลงมากตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ขณะที่ความยากจนกลับเพิ่มขึ้นในปี 2559,2561 และ 2563 นอกจากนี้ ยังพบว่าในปี 2562 ประเทศไทย มีความไม่เท่าเทียมกันของรายได้สูงสุดในเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก



หนึ่งในประเด็นที่ผู้จัดการด้านเศรษฐกิจมหภาค การค้าและการลงทุนธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เปิดเผยคือการพบข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา การลดความยากจนของประเทศไทย มีความสำเร็จลดลง ขณะที่ตัวเลขคนยากจนเพิ่มขึ้น



การเปิดเผยดังกล่าว มีขึ้นระหว่างการนำเสนอ รายงานวิเคราะห์รายได้ ในชนบทของไทย ที่ธนาคารโลกทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในเอกสารธนาคารโลก ใช้คำว่า ประเทศไทย มีความคืบหน้าการลดความยากจนจากร้อยละ 58 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 6.8 ในปี 2563 เท่ากับว่าศักยภาพการลดความยากจนลดลง ขณะเดียวกัน ก็พบว่า ร้อยละ 79 ของคนยากจน อยู่ในพื้นที่ชนบท และส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม



ดร.ลาส โมลเลอร์ ยังระบุว่าร้อยละ 80 ของประชากรไทย อยู่ในชนบทและคนในชนบทก็ยากจนมากกว่าคนเมือง ซึ่งทั้งวิกฤติโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลต่อภาคเกษตร รวมถึงวิกฤติวัยแรงงานภาคเกษตรที่ส่วนใหญ่เป็นผุ้สูงอายุ และไม่ทันต่อเทคโนโลยี มีผลให้รายได้ภาคเกษตรตกต่ำ



ขณะที่ดร.นาเดีย เบลฮาจ ฮาสซิน เบลกิท จากแผนกความยากจนและความเสมอภาค กลุ่มธนาคารโลก ก็ระบุว่าในปี 2562 ประเทศไทย มีอัตราความไม่เท่าเทียมกัน ของรายได้สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ด้วยค่าวัดคามเหลื่อมล้ำจีนี ที่ร้อยละ 43.3 สถิติที่ชัดเจนคือ คนรวย 1% ในประเทศไทย มีรายได้ถือเป็น 21% ของรายได้ทั้งประเทศ ส่วนคนอีก 50% มีสัดส่วนรายได้เพียง 14 เปอรเซ็นของรายได้ทั้งประเทศ



ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากคณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ร่วมวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าอะไร คือโอกาสที่จะทำให้ภาค เกษตรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงข้อจำกัดที่ต้องก้าวให้พ้น  โดยพบว่าภาคเกษตรมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงการบริหารทรัพยากรน้ำ/ปัจจัยและเครื่องมือการผลิต การตลาดและการส่งเสริมการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ



ที่สำคัญคือ การคือครองที่ดินซึ่งเกษตรกรไทยมากกว่าร้อยละ 50 ถือครองที่ดินคนละไม่เกิน 10 ไร่ เท่านั้นและเป็นที่ดิน ที่ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จ



งานวิจัยที่ทำร่วมกับธนาคารโลก ยังพบว่าการมุ่งให้การเยียวยาพืชผลทางการเกษตรแบบให้เปล่า โดยไม่ได้ตั้งเงื่อนไขให้เกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้นด้วย ก็เป็นหนึ่งในข้อจำกัดเช่นกัน ที่นักวิจัยมีข้อเสนอว่า จะต้องติดตามทบทวน หรือเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม



ข้อเสนอดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 4 ประเด็นหลักที่นักวิชาการนำเสนอ โดยเห็นว่าใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า รัฐต้องยกระดับการผลิตการเกษตกรรมด้วยระบบชลประทาน การประกันภัยผลผลิต แหล่งเงินทุน รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยทางการเกษตรให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อสร้างความรู้และโอกาสใหม่ให้ภาคการเกษตรมากขึ้น

คุณอาจสนใจ