สังคม

โลกร้อนทำผักกาดขาวขาดแคลนกระทบการผลิตกิมจิในเกาหลีใต้

โดย onjira_n

10 ต.ค. 2565

61 views

หากพูดถึงเกาหลีใต้ หลายคนน่าจะนึกถึง “กิมจิ” อาหารขึ้นชื่อและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่อื่น ๆ ทั่วโลก เพราะรสชาติที่เปรี้ยวอมเผ็ดเล็กน้อย ทำให้กิมจิมีรสชาติที่เข้ากันได้ดีมาก ๆ เพื่อนำไปทานคู่กับปิ้งย่าง



อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นตัวการร้าย ทำให้เกาหลีใต้เผชิญกับการขาดแคลนผักกาดขาว ซึ่งวัตถุดิบหลักสำหรับทำกิมจิ ส่งผลให้ราคากิมจิเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้



อัน อิก จิน (Ahn Ik-jin) ผู้บริหารบริษัทชองวอน ออร์แกนิก (Cheongone) ผู้ผลิตกิมจิรายหนึ่งของเกาหลีใต้บอกว่า ตอนนี้ ธุรกิจของเขามีวัตถุดิบทำกิมจิไม่เพียงพอ เพราะราคาผักที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เขาตัดสินใจซื้อกะหล่ำปลีพันธุ์อื่น ๆ มาใช้แทน เพื่อรักษาการผลิตเอาไว้ และยังขึ้นราคากิมจิ เป็น 5,000 วอน (ประมาณ 130 บาท) ต่อกิโลกรัม



นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้ บริษัทของเขาเคยทำกิมจิได้วันละ 15 ตัน ตอนนี้ ก็ลดลงเหลือเพียง 10 ตัน หรือ น้อยกว่า



และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผักกาดขาว รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะสร้างโรงเก็บกะหล่ำปลีขนาดใหญ่ 2 แห่ง ภายในปี 2568 โดยใช้งบประมาณ 58,000 ล้านวอน (ราว 1,500 ล้านบาท) แต่ละโรงจะมีขนาด 9,900 ตารางเมตร ซึ่งถ้ารวมกันจะมีขนาดเทียบเท่ากับกับสนามฟุตบอล 3 สนาม โดยจะสร้างขึ้นที่เมืองโกซานและแฮนัม



โรงเก็บผักกาดขาวแห่งนี้สามารถเก็บรักษาผักกาดขาวสดได้วันละ 10,000 ตัน และ เก็บผักกาดดองได้วันละ 50 ตัน ซึ่งนายอิม จองกึม (Lim Jeung-guen) รองผู้อำนวยการฝ่ายการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ของกระทรวงเกษตรเกาหลีใต้บอกว่า รัฐบาลจะสร้างโรงเก็บผักกาดเพิ่มอีก หากโรงเก็บ 2 แห่งแรกประสบความสำเร็จ



ทั้งนี้ อุตสาหกรรมกิมจิเริ่มประสบปัญหาตกต่ำมาสักระยะแล้ว หลังจากที่ กิมจิจากจีน ซึ่งมีราคาถูกกว่ากิมจิของเกาหลีใต้ เข้ามายึดพื้นที่ในท้องตลาด จนปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 40%



ขณะเดียวกัน การศึกษาจาก Korea Rating & Data ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตกิมจิรายย่อยในเกาหลีใต้ ทยอยปิดกิจการ หรือ หันไปผลิตสินค้าอื่นแทนแล้วอย่างน้อย 1,000 ราย ดังนั้น ผู้ผลิตกิมจิในเกาหลีใต้จึงได้แต่หวังว่าแผนการของรัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือผู้ผลิตกิมจิรายย่อยเหล่านี้ได้



ข้อมูลระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ส่งออกกิมจิเพิ่มขึ้น 10.7% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6,000 ล้านบาท) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมความบันเทิง ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีใต้



สุดท้ายนี้ ชาวเกาหลีใต้หลายคนก็กังวลว่า ปัญหาการขาดแคลนผักกาดขาว จะส่งผลกระทบต่อประเพณี “กิมจัง” หรือ การทำกิมจิร่วมกัน และ แบ่งปันกันภายในครอบครัว, เพื่อน, หรือ ชุมชน ที่จะเริ่มต้นขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายน


คุณอาจสนใจ