ข่าวประชาสัมพันธ์ช่อง 3

ครูเตรียมเฮ! ศธ.ชูกำแพงเพชร นำร่องมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู เตรียมขยายผลทั่วประเทศ

โดย thichaphat_d

5 ต.ค. 2565

54 views

4 ตุลาคม 2565 - นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย”


โดยมีนายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ, นางสุรางค์ คัยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์, ผู้แทนสถาบันการเงิน ตลอดจนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ เข้าร่วม ณ หอประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กำแพงเพชร  เขต 1



นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ กล่าวว่า “ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่สำคัญส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และขวัญกำลังใจในการทำงานของเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้พบว่าครูเป็นหนี้ในระบบมาถึง 1.4 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้ถึง 9 แสนคน ซึ่งพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความตระหนักและห่วงใยในปัญหาหนี้สินครูเป็นอย่างยิ่ง


จึงได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงการคลัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้ครูฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน สามารถดำรงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความรู้ด้านการออมการลงทุน มีระเบียบวินัยทางการเงินที่เหมาะสมกับรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ มีศักยภาพสูง ยังผลต่อคุณภาพของผู้เรียนที่จะได้รับการพัฒนา หล่อหลอมให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติและสังคมโลก  


กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นฐาน มีการบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ สถาบันการเงินต่าง ๆ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบแบบยั่งยืน ภายใต้แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ลดดอกเบี้ยเงินกู้, ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระ, ชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมาย, จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูช่วยไกล่เกลี่ย 558 สถานี, ปรับโครงสร้างหนี้ รวมหนี้มาไว้กับสถาบันการเงินที่อัตราดอกเบี้ยกู้ต่ำ, กำหนดให้หักเงิน ช.พ.ค.มาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ และที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้และทักษะบริหารจัดการด้านการเงินแก่เพื่อนครูทั้งที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่และเกษียณอายุราชการ



ปัจจุบันยังมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกชะลอการดำเนินการทางกฎหมายอยู่ประมาณ 25,000 ราย รวมถึงกลุ่มที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยธนาคารออมสิน จำนวน 6,331 ราย และหากรวมผู้ค้ำประกันด้วย จะมีจำนวนมากถึง 20,000 ราย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมทั้งข้าราชการครูที่ลงทะเบียนผ่านระบบในรอบที่ 1 ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้

กระทรวงศึกษาธิการ จึงมีมาตรการเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนสูงทั่วประเทศ โดยการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู "สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย" เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  สิทธิประโยชน์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในครั้งนี้จะได้รับ อาทิ การขยายเวลาการชำระหนี้, ลดเบี้ยปรับ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดรายเดือน, ไม่ถูกฟ้อง ไม่ถูกบังคับคดี, งดยึดทรัพย์สิน งดขายทอดตลาด และการถอนจากการเป็นผู้ค้ำประกันโดยการยอมรับชำระหนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง การปิดสัญญาชำระหนี้ เป็นต้น


โดยเราได้แบ่งกระบวนการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดย ระยะสั้น คือ กลุ่มหนี้วิกฤติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเจรจาขอความร่วมมือกับเจ้าหนี้ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน ในการไกล่เกลี่ยด้านใด ด้านหนึ่ง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ไม่ให้ครูโดนฟ้องหรือบังคับคดีในเบื้องต้น ระยะกลาง จะเป็นแนวทางช่วยเหลือครู ให้ลดภาระหนี้ เช่น โครงการสินเชื่อ Soft Loan ยืดหนี้ ซึ่งจะมีการประชุมหารือของคณะกรรมการฯ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป และระยะยาว ซึ่งจะเป็นการอบรมครู ให้วางแผนทักษะชีวิตครูใหม่ ทั้งด้านการเงิน สิทธิและความน่าจะเป็นด้านการเงินตั้งแต่ต้น

“การจัดมหกรรมที่จังหวัดกำแพงเพชรในครั้งนี้ ต้องการให้มีการไกล่เกลี่ยหนี้ครู โดยให้มีสถานีแก้หนี้จังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษาเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย สถาบันการเงินของรัฐและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ได้เข้ามาร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้เกิดข้อยุติในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นหนี้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า 2 หมื่นคน นับเป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสถาบันการเงินที่ลงลึกถึงปัญหาเป็นรายบุคคล และจากการรายงานความก้าวหน้า พบว่าจังหวัดนี้มีความร่วมมือในการบูรณาการเพื่อการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเข้มแข็ง ถูกต้อง ถูกวิธี ถูกทาง เป็นฐานในการสังเคราะห์ วิเคราะห์เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับจังหวัดอื่นต่อไป


โดยในจังหวัดกำแพงเพชรมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดต่างๆของกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 570 คน ความสำเร็จและข้อจำกัดของงานในครั้งนี้ จะเป็นการถอดบทเรียนการดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ ซึ่งถือว่าเป้นบทเรียนสำคัญที่จะไปสู่การแก้ไขในระดับประเทศ ขับเคลื่อนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในพื้นที่ทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้ “ ขอฝากถึงครูที่เป็นหนี้วิกฤติว่า อย่าออกไปกู้เงินนอกระบบ ไม่ว่าจะถูกยั่วยุหรือชักนำใดๆ ขอให้เข้ามาอยู่ในระบบก่อน โดยเข้ามาลงทะเบียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการจัดให้ ซึ่งเราจะมีการเปิดลงทะเบียนในระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ขอให้ติดตามข่าวประชาสัมพันธ์ต่อไป เพราะถ้าครูเข้ามาอยู่ในระบบ คณะกรรมการฯก็จะสามารถช่วยเหลือ ดูแลได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเชื่อมั่นว่าโครงการนี้สำเร็จได้อย่างแน่นอน” นายณัฐวัฒน์ กล่าวในที่สุด

คุณอาจสนใจ

Related News