สังคม

'ชัชชาติ' เตรียมเสนอแผนทำอุโมงค์ระบายน้ำฝั่งตะวันออก แก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว

โดย panisa_p

18 ก.ย. 2565

103 views

ผู้ว่าราชการกรงเทพฯ จะเสนอสร้างอุโมงค์ระบายน้ำต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.ในวันพรุ่งนี้ เพื่อเป็นแผนระยะยาวในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก รวมถึงบางพื้นที่ของสมุทรปราการ ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศล่าสุดเมื่อ 17.00 น. เตือนว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ระหว่าง 18 ถึง 21 กันยายนี้


เทศบาลนครราชสีมาขึ้นธงสีน้ำเงิน เพื่อเตือนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำตะคอง หลังจากระดับน้ำเริ่มสูงจนเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะเดียวกันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ที่สะพานข้ามลำตะคอง ในชุมชนมิตรภาพซอย 4 เพื่อระบายน้ำในละตะคอง รองรับพายุลูกใหม่ตามคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าจะมีฝนตกหนัก ระหว่างวันที่18 ถึง 21 กันยายนนี้


นอกจากนี้พื้นที่ลุ่มน้ำมูล ก็เริ่มมีพื้นที่การเกษตรและเส้นทางสัญจรถูกน้ำท่วมแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะอำเภอพิมายที่ได้รับผลกระทบจากลำน้ำมูล และอำเภอประทาย ได้รับ ผลกระทบจากลำสะแทด หลากท่วมพื้นที่การเกษตรตำบลกระเบื้องนอก อำเภอเมืองยาง เดือดร้อน 4 ตำบล นาข้าวเสียหายกว่า 1 หมื่นไร่ นับว่าเป็นน้ำท่วมรอบที่ 2 ของปีนี้


กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 7 เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ เตือนจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ ให้ระวังฝนตกหนักและลมกระโชกแรง


สำหรับสถานการณ์ในกรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เปิดเผยว่าพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือ กนช. โดยผู้ว่า กทม. จะเสนอแผนระยะยาวต่อที่ประชุม เพื่อรับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ด้วยการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ จากคลองลำปะทิวเชื่อมกับคลองประเวศบุรีรมย์ จากนั้นจะสูบน้ำจาก อุโมงค์ไปออกคลองร้อยคิว หากอุโมงค์นี้ถูกสร้างขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฝั่งตะวันออก รวมถึงเขตลาดกระบัง สนามบินสุวรรณภูมิ และเทศบาลตำบลสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ


สำหรับอุโมงค์ที่จะเสนอให้สร้าง จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน เพราะจะตั้งอยู่ในเขตรับผิดชอบของจังหวัดสมุทรปราการ นอกเขตดูแลของ กทม. เป็นอุโมงค์ที่มี ความยาวประมาณ 19 กิโลเตร กว้างระหว่าง4 ถึง 5 เมตร ระบายน้ำอย่างน้อย 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์นี้จะระบายน้ำ ไปเชื่อมต่อกับคลองร้อยคิว ซึ่งมีระบบระบาย น้ำของกรมชลประทานอยู่แล้ว และระบายได้มากถึง 100 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที


ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ระบุว่าที่ผ่านมากรุงเทพฯ ระบายน้ำเข้าเมืองทั้งหมดทำให้ระบายได้ช้า แต่ระยะยาวกรุงเทพฯ ต้องร่วมมือกับพื้นที่อื่น เพื่อให้มีช่องทางน้ำระบายได้หลายช่องทาง และรวดเร็วขึ้น


นายชัชชาติ ยังให้ความเห็นว่า การจะทำคลองขนาดใหญ่เพื่อระบายน้ำ ทำได้ล่าช้าเพราะมีประเด็นการรุกล้ำ และมีเรื่องความชันของพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง การจะอาศัย คลองเพื่อระบายน้ำอย่างเดียวจึงแก้ได้ช้า แต่หากขุดอุโมงค์ลึกลงไป จะทำความชันได้ตลอดความยาวของคลอง เช่นต้นทางของคลองชัน 10 เมตร และปลายทางชันระดับ 30 เมตร จะควบคุมการระบายน้ำได้ดีขึ้น

คุณอาจสนใจ