สังคม

กองทัพเรือจัดส่งเรือผลักดันน้ำ 20 ลำลงพื้นที่อำเภอแกลง จ.ระยอง ในการเร่งระบายน้ำ

โดย kanyapak_w

11 ก.ย. 2565

94 views

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (11 กันยายน 2565) พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เป็นประธาน ในพิธีส่งขบวนรถลำเลียงเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ เดินทางจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ไปทำการผลักดันน้ำที่จังหวัดระยอง



ทั้งนี้ จังหวัดระยอง โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอแกลง ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนเป็นจำนวนมาก การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทั้งจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแกลง ยังคงมีระดับสูงและมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะยังคงส่งผลกระทบแก่พี่น้องประชาชนเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำประแสร์ให้ไหลออกสู่ท้องทะเลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น




ในการนี้ พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และ ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย จึงได้ สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เตรียมเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือให้มีความพร้อม ตลอดจนลำเลียงเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ พร้อมกำลังพล ไปยังจังหวัดระยองตามที่ได้รับการร้องขอจากทางจังหวัด โดยเรือผลักดันน้ำทั้ง 20 ลำ ได้ลำเลียงออกจากอู่ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ และคาดว่าจะเดินทางถึงจังหวัดระยองในวันช่วงบ่ายวันนี้ โดยจะดำเนินการติดตั้งที่บริเวณสะพานทะเลน้อย – ท่ากะพัก ต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง จ.ระยอง ทั้งนี้ตัวสะพานมีความยาวประมาณ 170 เมตร ใช้ข้ามแม่น้ำประแสร์ อยู่ห่างจาก อ.แกลง ประมาณ 9 กิโลเมตร




สำหรับ เรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ที่คงมีอยู่ทำให้ กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี 2554 ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วันขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว



จากสถานการณ์ดังกล่าว พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ จึงได้สั่งการให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยพื้นที่ต่าง ๆ ของกองทัพเรือ รวมทั้งหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติเชิงรุกทั้งด้านองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี ให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน



ได้ทันที โดยบูรณาการและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งติดตามการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ทั้งนี้ กองทัพเรือ ยังคงเตรียมความพร้อม ทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์ ที่จะให้การสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างต่อเนื่องโดยสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ 1696 ตลอด 24 ชั่วโมง





คุณอาจสนใจ