สังคม

สปสช.แจงเหตุส่งยาฟาวิฯ ล่าช้า เหตุผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้น - แชร์ภาพกล่องยาโมลนูฯ หาซื้อง่ายในลาว

โดย thichaphat_d

30 ก.ค. 2565

6 views

วานนี้ (29 ก.ค.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวถึงกรณีที่ สปสช. ดำเนินการจัดระบบสายด่วน สปสช.1330 เพื่อเป็นบริการเสริมที่สนับสนุนหน่วยบริการในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบบริการ ทั้งในกลุ่ม 608 และไม่ใช่ 608  

จากการเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 โทรเข้าสู่ระบบเพื่อขอรับบริการจำนวนมาก มีผู้ป่วยโควิดส่วนหนึ่งจำเป็นต้องไปรับยาฟาวิพิราเวียร์ นอกจากการนำส่งยาโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) ที่ได้รับการสนับสนุนค่าจัดส่งจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว สปสช. ได้จัดรถร่วมนำส่งเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาโดยเร็วที่สุด

ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับยาฟาวิพิราเวียร์มีเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งใน กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม จนถึงเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 65 มีการจัดส่งให้ยาให้ผู้ป่วยโควิดแล้วจำนวน 2,233 ราย หรือเฉลี่ย 372 รายต่อวัน รวมเป็นยาฟาวิพิราเวียร์จำนวน 116,192 เม็ด

ทพ.อรรถพร ยังกล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวนี้ แม้ว่าทั้ง สปสช. และบริษัทที่จัดส่ง โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจัดส่งยาจาก ธกส. จะได้ดำเนินการเร่งส่งยาให้กับผู้ป่วยอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดส่งยาให้ผู้ป่วยได้ทัน ทำให้ยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับยาล่าช้า

สปสช.จะรีบจัดส่งยาเพิ่มเติมให้กับผู้ป่วยที่รอรับยาตามลำดับรายชื่อที่ได้ลงทะเบียนให้กับผู้ป่วยเร็วที่สุด และเร่งให้ยาถึงมือผู้ป่วยเร็วที่สุด

พร้อมย้ำว่า สปสช.คำนึงถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ ด้วยสถานการณ์นี้จึงได้จัดบริการเฉพาะกิจนี้ขึ้น และต้องย้ำว่า ในกรณีผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ลงทะเบียนในระบบ 1330 และรอรับยา รวมถึงผู้ป่วยโควิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 608 หากมีอาการที่แย่ลง ขอให้รีบเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการโดยเร็ว

ทั้งนี้ นอกจากบริการผ่านระบบสายด่วน สปสช. 1330 แล้ว ผู้ป่วยโควิดยังสามารถรับบริการในช่องทางหลัก 3 ช่องทาง ดังนี้

1. บริการที่คลินิก/โรงพยาบาล ตามสิทธิสุขภาพของตัวเอง

2. รับบริการแบบ Telemedicine ซึ่งทีมผู้ให้บริการ Telemedicine จะทำการคัดกรองเบื้องต้น หากไม่มีอาการ จะจ่ายยาแล้วติดตามอาการภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้ามีอาการ ผู้ให้บริการ Telehealth จะประสานส่งต่อคลินิก/โรงพยาบาลเพื่อดูแลตามแต่ละการจัดการของโรงพยาบาล

3. บริการที่ร้านยา ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว สิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคม โดยรับยารักษาตามอาการ-คำแนะนำการใช้ยา (ครอบคลุมทั่วประเทศ)


ขณะที่ในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพกล่องยาโมลนูพิราเวียร์ ที่มีการจำหน่ายในประเทศลาว ข้างกล่องเขียนเป็นภาษาลาว สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในร้านยา มีชาวเน็ตบางรายเผยว่า มีคนไทยข้ามฝั่งไปซื้อยานี้กันจำนวนมาก 


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/pPqVcguNc-c

คุณอาจสนใจ

Related News