สังคม

"ยุทธพงศ์" อัด "บิ๊กตู่" รับผิดชอบปมจ่ายค่าโง่ซื้อเรือดำน้ำจีน 2 หมื่นล้าน

โดย nutda_t

22 ก.ค. 2565

79 views

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยกล่าวหา ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไร้ความสามารถ ไร้จิตสำนึก ขาดภาวะความเป็นผู้นำ เป็นผู้นำที่พิการทางความคิด กรณีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อภารกิจของประเทศ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ น้ำมันแพง ของแพง และความอดอยากหิวโหยของประชาชน



นายยุทธพงศ์ ได้เริ่มต้นการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรี เคยระบุเมื่อปี 2560 ว่าเป็นการจัดซื้อแบบโปรโมชั่น 2 ลำ แถม 1 ลำ แต่เมื่อตรวจจากเอกสารสัญญาการจัดซื้อจากองทัพเรือ ที่ชี้แจงต่อกรรมาธิการงบประมาณ เป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่าการจัดซื้อจริง กลับเป็นการจัดซื้อแบบ 3 ลำ ไม่ใช่การซื้อ 2 แถม 1 ตามที่บอกไว้ โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 36,000 ล้านบาท เฉลี่ยตกลำละ 12,000 ล้านบาท แต่สามารถซื้อไปเพียงลำแรก เนื่องจากลำที่ 2 และ 3 พรรคเพื่อไทยได้คัดค้านไว้



และภายหลังการจัดซื้อลำแรก ก็พบปัญหา ไม่มีเครื่องยนต์ที่จะสร้างเรือดำน้ำต่อ โดยอ้างอิงข้อมูลจากทูตเยอรมันประจำประเทศไทย แจ้งว่า ทางการจีนไม่ได้ติดต่อขอซื้อเครื่องยนต์ก่อนที่จะลงนามในสัญญาขายเรือดำน้ำให้กับกองทัพเรือไทย “นี่แสดงให้เห็นว่าก่อนการไปเซ็นสัญญา ไม่ได้มีความรอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อรักษาผลประโยชน์กับประเทศชาติ เพียงแต่ต้องการจะซื้อ ใช้งบประมาณ จนเกิดความเสียหายขึ้น”



จากนั้นกองทัพเรือ หารือกับบริษัทตัวแทนฝ่ายจีน เพื่อแก้ปัญหาในการจัดหาเครื่องยนต์ โดยทางการจีน เสนอเครื่องยนต์ของจีนรุ่น CHD 620 มาใส่แทน MTU 396 จากเยอรมัน แต่กองทัพเรือยืนยันต้องการเครื่องยนต์จากเยอรมัน และขอให้ทางการจีนแก้ปัญหาภายใน 60 วัน โดยกำหนดเส้นตายวันที่ 9 ส.ค.2565 ซึ่งหากไปดูในสัญญาการจัดซื้อ ในข้อ 5.2 ระบุไว้ว่า หากฝ่ายจีนไม่สามารถสร้างเรือดำน้ำให้สมบูรณ์ตามสัญญานี้ ทางการไทยมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ โดยเราไม่ต้องเสียค่าปรับ และสามารถเรียกร้องเงินกว่า 7 พันล้าน ที่จ่ายค่าเรือดำน้ำลำแรกได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ดำเนินการ และตามแผนโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ยังมีส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องรวมจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมดกว่า 44,222 ล้านบาท จำนวนนี้เราจ่ายเงินไปแล้ว 21,722 ล้านบาท แต่วันนี้ยังไม่มีเรือดำน้ำ ตนจึงขอเรียกว่า เป็นค่าโง่เรือดำน้ำ



ดยสรุป 4 ข้อ ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ คือ 1.โครงการจัดหาเรือดำน้ำมูลค่า 44,222 ล้านบาท 2.เรือดำน้ำลำแรกมูลค่า 12,500 ล้านบาท แต่เกิดปัญหาไม่มีเครื่องยนต์ และหยุดต่อเรือ 3.โครงการอื่นๆ ที่เป็นส่วนสนับสนุน จ่ายเงินไปแล้ว 21,722 ล้านบาท และ 4.ส่วนที่จ่ายเงินไปแล้ว แต่ไม่มีเรือดำน้ำ เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์



นอกจากนี้ กองทัพเรือ ยังมีโครงการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ UAV 3 ลำ มูลค่า 4,100 ล้านบาท ซึ่งในทีโออาร์ ที่แจ้งต่อกรรมาธิการงบประมาณ เป็นการจัดหา พร้อมระบบอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับปฏิบัติภารกิจ และติดตั้งระบบอาวุธ แต่ปรากฏว่ามีการจัดซื้อ UAV ยี่ห้อ Hermes 900 ของบริษัทจากอิสราเอล เป็น UAV เปล่าๆ ที่ไม่มีอาวุธ จึงตั้งคำถามว่าจะไปรบกับใครได้ แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือ เพียงต้องการใช้งบประมาณ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความจำเป็น ด้วยงบประมาณลำละ 1,400 ล้านบาท



ขณะที่เมื่อดูประสิทธิภาพของ UAV ยี่ห้อ Hermes 900 ก็เกิดปัญหา หลังมีข้อมูลเมื่อ 11 พ.ค.2564 ตกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และต่อมา 28 พ.ค.2565 ตกที่ฟิลิปปินส์ จึงขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปตรวจสอบถึงความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างในปี 2565 เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเซ็นสัญญา ซึ่งสามารถนำไปพิจารณาทบทวนให้เกิดความรอบคอบ



นอกจากกองทัพเรือแล้ว นายยุทธพงศ์ ยังอภิปรายถึงการจัดหาเครื่องบินรบทางยุทธศาสตร์ รุ่นใหม่ล่าสุด F-35A ของกองทัพอากาศ ในงบประมาณ ปี 2566 ว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ ในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน อีกทั้งงบประมาณที่ใช้จัดซื้อยังอยู่ในส่วนของเงินที่กู้มา และสิ่งที่น่ากลัว คือค่าใช้จ่ายในการบิน ชั่วโมงละ 1 ล้าน 3 แสนบาท ขณะที่ปัจจุบันเครื่องบิน F-16 หรือ กริพเพน เสียค่าใช้จ่ายชั่วโมงละ 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัว



ทั้งนี้ในเอกสารงบประมาณของกองทัพอากาศ ปี 2566 เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ยืนยันต่อกรรมาธิการงบประมาณฯ ว่ากองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบิน F-35 จำนวน 2 ลำ มูลค่า 7,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องบินเปล่าๆ ยังไม่รวมอาวุธ ด้วยงบประมาณจำนวนมาก ขณะที่ประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ของแพง น้ำมันแพง ประชาชนตกงาน ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งให้กองทัพอากาศถอนเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน F-35A ออกจากงบประมาณ ปี 2566 เพื่อนำงบประมาณมาช่วยเหลือประชาชนก่อน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ