พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามการดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาให้แก่เยาวชน จ.อำนาจเจริญและศรีสะเกษ

โดย paweena_c

21 ก.ค. 2565

41 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานส่งเสริมการศึกษาให้แก่เยาวชน ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดศรีสะเกษ



วันนี้ เวลา 10 นาฬิกา 44 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยฆ้อง อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 128 คน



เน้นการให้ความรู้แบบบูรณาการในกลุ่มสาระวิชาของทุกชั้นเรียน รวมทั้งจัดกิจกรรมโครงการบุตรบุญธรรม ให้ครูทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ดูแลด้านการเรียน เพื่อแก้ปัญหานักเรียนบกพร่องการอ่านและเขียน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนอนุกูลนารี จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง เข้ามาจัดกิจกรรมสอนเสริมเพิ่มความรู้ อาทิ กิจกรรมพี่ชวนน้องรักการอ่าน และกิจกรรม English for Fun ส่งผลให้ปีการศึกษา 2564 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกรายวิชา



ด้านการฝึกอาชีพ มีวิทยาลัยเทคนิคหัวตะพาน เข้ามาสอนวิชาชีพที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในหลักสูตรระยะสั้น อาทิ การทำมุ้งลวดอะลูมิเนียม, การติดตั้งระบบไฟฟ้าเบื้องต้นภายในอาคาร และการทำชาใบหม่อน นอกจากนี้ ยังให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง ในกิจกรรมการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ โดยนำผลผลิตไปประกอบอาหารกลางวัน พร้อมขยายผลสู่ชุมชน



โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยฆ้อง ซึ่งรับเด็กจาก 3 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยฆ้อง, บ้านนาห้วยทราย, บ้านทองศิลา ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในความดูแล 71 คน ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน ตชด.บ้านห้วยฆ้อง จัดกิจกรรมให้เด็กโตมาช่วยดูแล พาน้องทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันสำคัญต่างๆ



จากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงาน ของกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการเมื่อปี 2556 มี 5 กลุ่ม ได้แก่ ชุมชนบ้านนาผาง, ชุมชนบ้านสร้างถ่อนอก, ชุมชนบ้านหนองแห่, ชุมชนบ้านโนนธาตุ และชุมชนบ้านเปือย ซึ่งได้รับเงินกองทุนพระราชทานในการจัดตั้งกลุ่ม สามารถผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง บางกลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียนมากถึง 2 แสน 8 หมื่นบาท ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น



เวลา 15 นาฬิกา 32 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ของโรงเรียนวัดประชานิมิตโสภิตธรรมภาณ (อ่านว่า วัด-ประ-ชา-นิ-มิด-โส-พิด-ทำ-มะ-พาน) อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทรงรับไว้ในโครงการตามพระราชดำริ ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารฯ ในปี 2557



ในการนี้ ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ของกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมในจังหวัดศรีสะเกษ รวม 9 โรงเรียน อาทิ โครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทยของกลุ่มโรงเรียน มีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จัดกิจกรรมการพัฒนาครู และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ขณะที่มูลนิธิฮารนามซิงห์ ฮารบันส์กอร์ สัจจเทพ สนับสนุนงบประมาณจัดสร้างโรงครัว หรือหอฉัน



โรงเรียนกันทรลักษ์ธรรมวิทย์ แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2565 รวมทั้งออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างโรงครัว หรือ หอฉัน โรงเรียนโพธิ์ศรีวิทยา ที่พระราชทานเงินการก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ด้านการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ กรมชลประทานได้ก่อสร้างหอถังสูง และติดตั้งเครื่องกรองน้ำอาร์โอ พร้อมเครื่องทำความเย็นให้กับโรงเรียน ตลอดจนร่วมกับสำนักงาน กปร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงคุณภาพน้ำของกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ



สำหรับการดำเนินงานของโรงเรียนวัดประชานิมิตโสภิตธรรมภาณ เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 แผนกสามัญศึกษา ควบคู่กับแผนกธรรมและบาลี มีสามเณรนักเรียน 68 รูป จาก 3 ชนเผ่า คือ ลาว เขมร และกูย มีนักศึกษาทุนในพระราชานุเคราะห์ เป็นครูบรรพชิตกำลังศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านกิจกรรมห้องสมุด ใช้การแยกหมวดหนังสือด้วยระบบทศนิยมดิวอี้ ติดแถบสีเพื่อแยกประเภทหนังสือ ทำให้ทุกคนสามารถช่วยเก็บหนังสือได้ตามหมวดหมู่



การนี้ ทอดพระเนตรการสาธิตการสอนวิชาคณิตศาสตร์, แผนกธรรม และแผนกบาลี ทั้งนี้ปีการศึกษา 2564 มีผลการทดสอบ B-NET โดดเด่น โดยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า วิชาวินัย มีคะแนนสูงกว่าระดับประเทศ เช่นเดียวกับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทุกรายวิชามีคะแนนสูงกว่าระดับประเทศ และในปีการศึกษา 2562 ถึง 2564 มีสถิติผู้สอบนักธรรม และผู้สอบบาลีสนามหลวงได้เพิ่มขึ้น


จากนั้น ทรงวางพวงมาลัยถวายสักการะหลวงพ่อมหาสำเร็จ แล้วทอดพระเนตรงานด้านการอนุรักษ์ และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น อาทิ การเทศนาภาษากูย เรื่อง กตัญญูกตเวที ทั้งนี้ภาษากูย มีลักษณะร่วมกันหลายประการกับภาษาเขมร รวมถึงด้านอาชีพ ได้แก่ การตัดเย็บผ้าบริขารสำหรับพระภิกษุสามเณร, การทำไม้กวาดทางมะพร้าว, การทำสเปรย์และเจลแอลกอฮอล์สมุนไพรตะไคร้, เครื่องช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 และอุณหภูมิในอากาศ ซึ่งสามเณรนักเรียน สามารถต่ออุปกรณ์ และเขียนโปรแกรมชุดคำสั่ง ให้อุปกรณ์ทำงานตามระบบได้จริง