สังคม

สุดทึ่ง! เห็นแบบใกล้ชิด ‘ยอดพระธาตุช่อแฮ’ ประดับทองคำแท้-อัญมณี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแพร่

โดย nicharee_m

16 ก.ค. 2565

522 views

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.65 พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะ จ.แพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เจริญพรว่า วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง วัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่ เป็นพระธาตุ 1,000 ปี เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีขาล องค์พระธาตุ บรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระข้อศอกซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทยมาช้านาน และเป็นวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.แพร่ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี วัดพระธาตุช่อแฮ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2549




ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการบูรณะปฎิสังขรณ์องค์พระธาตุช่อแฮมาโดยตลอด และมีการบูรณะครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2467 พระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย และมีการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 19 ธ.ค.2564 โดยพระโกศัยเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง รองเจ้าคณะ จ.แพร่ พร้อมกับนายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการ จ.แพร่ ร่วมกับคณะสยามบวรและพุทธศาสนิกชน บูรณะองค์พระธาตุ ด้วยงบประมาณ 36 ล้าน เนื่องจากทองจังโกที่หุ้มองค์พระธาตุได้แตก กระเทาะออกมา อาจทำให้องค์พระธาตุได้รับความเสียหายได้ จึงขออนุญาตกรมศิลปากร ทำการบูรณะแล้ว เสร็จในวันที่ 20 มิ.ย.65

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จึงทำการสมโภชพระบรมธาตุช่อแฮ และสมโภชพระอารามหลวง ครบ 16 ปี ในวันที่ 24 และวันที่ 27 ก.ค.65 และวันที่ 26 ก.ค. 65 เป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค.65 และวันที่ 28 ก.ค.65 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานน้ำสรงและผ้าไตรองในพิธีถวายน้ำสรงและผ้าไตรพระราชทานพระบรมธาตุช่อแฮ ครบรอบ 16 ปี พระอารามหลวง

คุณโอม กิตตินันท์ นุชวานิช ประธานกลุ่มสยามบวรที่ ควบคุมการทำทองประดับยอดองค์พระธาตุ เผยว่า รูปยอดพระธาตุทำด้วยทองคำแท้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ที่ ส่วนล่าง เรียกว่า วัชระมงคล ฐาน เชิงบัว มีส่วนเดียว ส่วนปลียอด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ศิลปะออกไปทางล้านนา ผสมพม่า ซึ่งส่วนล่างใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดับด้วยลายฉลุรูปเสือ ที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์พระธาตุช่อแฮ พร้อมพระพุทธรูปทองคำประทับนั่งบนเสือ อีก 8 องค์

ส่วนด้านบน ที่เป็นส่วนบัวหงาย ประดับด้วยอัญมณีต่างๆ รวมถึง แก้วจอมขวัญขนาดใหญ่ประดับ ที่บ่งบอกถึงผู้หญิงที่มายกยอดฉัตรองค์นี้ในอดีตเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือ ส่วนปลายสุดที่เรียกว่า วัชระบงกศ โดยวัชระแปลว่า เพชรสายฟ้า ส่วนบงกศแปลว่า ดอกบัวที่ประดับเพชร ทั้ง 4 ด้าน มีความหมายเป็นพรหมวิหารสี่ มีท้าวจตุลบาลทั้ง 4 ปกป้องรักษา ทั้ง 4 ทิศ ซึ่งหากช่างที่ทำทองประดับแล้วเสร็จก็จะมีการสมโภชอัญเชิญขึ้นประดับบนยอดพระธาตุช่อแฮ รวมทั้ง ช่อดอกทองคำ 9 ชั้นทำด้วยทองคำที่เป็นของเก่า อย่างยิ่งใหญ่ต่อไป




นับเป็นบุญตาสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น ยอดองค์พระธาตุช่อแฮ ที่มีการจัดสร้างแผ่นทองคำแท้ จากผู้บริจาคมีศรัทธาในการบูรณะองค์พระธาตุอย่างใกล้ชิด ที่หากถูกนำขึ้นประดับไว้บนยอดพระธาตุแล้ว อีกนับนานหลายร้อยปีจึงจะได้พบเห็นเช่นนี้แบบใกล้ชิดกันอีกครั้ง

คุณอาจสนใจ