พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

โดย paweena_c

11 ก.ค. 2565

82 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย


วันนี้ เวลา 10.31 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณวัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทรงเปิดห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. กระทรวงศึกษาธิการ จัดสร้างขึ้นเป็นแห่งที่ 106 จาก 108 แห่ง ในพื้นที่ 62 จังหวัด เพื่อสนองพระราชดำริ ในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา


และเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิต โดยพระอาจารย์ธรรมสาธิต เวียงกาหลง ประธานโครงการเมืองวัฒนธรรม เวียงกาหลง และชมรมสังฆสามัคคีพุทธพจน์ เป็นองค์อุปถัมภ์ในการก่อสร้าง ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว แบบล้านนาประยุกต์ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของเมืองเวียงกาหลง



ภายในห้องสมุดฯ มีบริการ Wifi เครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และหนังสือต่าง ๆ รวมทั้งมีมุมกิจกรรม อาทิ ห้องพระอริยสงฆ์ล้านนา มีหนังสือกลุ่มความรู้ด้านศาสนา และคัมภีร์ล้านนาที่ใช้ในงานพิธีมงคล , มุมละอ่อน มีหนังสือ รวมทั้งของเล่นเสริมพัฒนาการ สำหรับเด็กและเยาวชน มุม "เล่นตามพ่อ" เรียนรู้การเล่นแบบพอเพียง นำวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น มาประดิษฐ์เป็นของเล่น อาทิ คนตำครก ควายไม้ , มุมวิถีชีวิตเดิมชาวเวียงกาหลง และนิทรรศการพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณเวียงกาหลง ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาของเวียงกาหลง ซึ่งเคยรุ่งเรืองในอดีต


ส่วนนิทรรศการ แอปพลิเคชัน "ปั๊กกะตืน" ให้บริการยืม คืน แบบ Delivery อำนวยความสะดวกให้นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถยืมหนังสือผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน จะนำหนังสือส่งถึงบ้าน หรือจุดบริการใกล้บ้าน นอกจากนี้ ยังมีมุมหนังสือพระราชทาน หนังสือพระราชนิพนธ์ หนังสือทั่วไป และซีดีพระราชทาน รวมทั้งมีบริการหนังสือเรียนของ กศน.ในรูปแบบหนังสือ E-book , แผ่นภาพ Infographic แนะนำความรู้ต่าง ๆ ด้วย


ต่อมาเวลา 11.48 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าของ โครงการพัฒนาที่ดิน มูลนิธิชัยพัฒนาบ้านดงพระพร (ศูนย์ผลิตและกระจายพันธุ์สัตว์) ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า บนเนื้อที่กว่า 171 ไร่ เป็นที่ดินซึ่งนางพูลลาภ เรืองศุข น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยได้พระราชทานพระราชานุญาต ให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดตั้งเป็นศูนย์ผลิตและกระจายพันธุ์สัตว์ เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทาน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทาน บ้านหนองชะลาบ จังหวัดตาก


ศูนย์ฯ แห่งนี้ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ใหญ่ อาทิ แพะพันธุ์ชามี่ และโคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ สำหรับพระราชทาน และยังเป็นศูนย์สาธิต ฝึกอบรมเทคโนโลยีการเลี้ยงแพะ โค รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีในการเลี้ยงสัตว์ และการผลิตอาหารสัตว์ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น


เมื่อเริ่มโครงการฯ มีแพะพันธุ์ชามี่ทั้งหมด 50 ตัว โดยนำเข้าจากสาธารณรัฐไซปรัส 20 ตัว และกรมปศุสัตว์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย 30 ตัว ปัจจุบันมีแพะทั้งหมด 94 ตัว ด้านการจัดหาแหล่งน้ำ กรมชลประทาน ร่วมกับสำนักงาน กปร. ก่อสร้างฝายห้วยน้ำฮาก พร้อมระบบส่งน้ำ และอาคารประกอบ สามารถส่งน้ำสนับสนุนให้แก่ราษฎรได้กว่า 200 ไร่ และยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานภายในโครงการฯ ด้วย


ด้านการจัดการฝูงผสมพันธุ์ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด และคงสภาพความเป็นฝูงปิด ในช่วงระยะเวลา 8-10 ปี ปัจจุบันมีแพะวัยเจริญพันธุ์รวม 41 ตัว ตั้งท้อง 9 ตัว และเพื่อให้มีผลผลิตน้ำนมดิบตลอดปี ได้กำหนดให้แม่แพะมีระยะการให้นมที่ 200 วัน หรือประมาณ 7 เดือน ปัจจุบันสามารถผลิตน้ำนมแพะได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงลูกแพะ


โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จังหวัดลำปาง ตรวจคุณภาพน้ำนมแพะ พบว่าค่าเฉลี่ยปริมาณจุลินทรีย์ และค่าเฉลี่ยปริมาณเนื้อนมรวม ในน้ำนมแพะอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขณะที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ช่วยดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และตรวจสุขภาพเป็นประจำ


ส่วนศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เชียงราย ร่วมปรับปรุงแปลงพืชอาหารสัตว์และแปลงสาธิตโครงการฯ บนพื้นที่ 103 ไร่ ซึ่งมีทั้งส่วนที่เก็บเป็นเสบียง และปล่อยแพะแทะเล็ม สำหรับนมแพะที่ได้ ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เชียงใหม่ ให้ความรู้เรื่องการแปรรูปน้ำนมและเนยแข็ง ทดลองผลิตเนยแข็งเชดด้า เนยแข็งเกาด้า และฮาลูมีชีสจากนมแพะพันธุ์ชามี่ เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากนมแพะพันธุ์ชามี่ในอนาคต


โอกาสนี้ทอดพระเนตรการรีดนมแพะ และพระราชทานชื่อลูกแพะสายพันธุ์ชามี่ อายุ 3 เดือนครึ่ง เป็นลูกแพะรุ่นแรก ที่เกิดจากการผสมเทียมของโครงการฯ เพศผู้ชื่อ พรประเสริฐ เพศเมีย ชื่อ พรนำสุข ปัจจุบันโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บ้านดงพระพร (ศูนย์ผลิตและกระจายพันธุ์สัตว์) ได้พัฒนามาตรฐานการเลี้ยงแพะ เพิ่มคุณภาพผลผลิตด้านปศุสัตว์ และได้รับการรับรอง (มาตรฐานฟาร์มแพะนม) เมื่อปี 2564 จึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศชาติ