พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการฯทหารพันธุ์ดี รร.ทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก จ.นครนายก

โดย parichat_p

6 ก.ค. 2565

35 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการฯทหารพันธุ์ดี โรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดนครนายก


วันนี้ เวลา 13.43 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยาม บรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการทหารพันธุ์ดี โรงเรียนทหารการสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดนครนายก ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำเนินโครงการฯ เมื่อปี 2563 ในพื้นที่ 35 ไร่


เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียนนายสิบทหารบก เหล่าทหารการสัตว์และพลทหารกองประจำการ ในเรื่องการทำเกษตรปลอดภัย การเพาะและการสำรองเมล็ดพันธุ์พืช การปศุสัตว์ และการประมง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับกำลังพล ครอบครัว และประชาชน ในพื้นที่ใกล้เคียง


ในการนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ แบ่งออกเป็น 5 พื้นที่กิจกรรม ประกอบด้วย แปลงปลูกผักปลอดภัย ผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์และการทำประมงขนาดเล็ก โดยมีแปลงปลูกผักปลอดภัย แปลงพืชสวนครัว 4 ภาค การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี การเลี้ยงปลานิลจิตรลดาในร่องสวน และการทดลองเลี้ยงกบเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ในการนี้ พระราชทานพันธุ์กบทุ่งกุลา เพื่อใช้ทดลองผสมข้ามสายพันธุ์กับกบท้องถิ่นจังหวัดนครนายก ให้ได้สายพันธุ์ที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศของท้องถิ่น เจริญเติบโตเร็ว ให้น้ำหนักสูง เพื่อพระราชทานแจกจ่ายประชาชนผู้สนใจต่อไป


ส่วนกิจกรรมแปลงฝึกผลิตเมล็ดพันธุ์ของทหารพันธุ์ดี เป็นแหล่งเรียนรู้เทคนิคการผลิตเมล็ดพันธุ์ การสำรองเมล็ดพันธุ์พืช ลดค่าใช้จ่าย โดยเลือกพื้นที่ดินถมจากการขุดบ่อแก้มลิง ซึ่งเป็นดินดานมีความเป็นกรดสูง ทำให้ทหารพันธุ์ดีเรียนรู้เรื่องการปรับปรุงและแก้ปัญหาเรื่องดิน รวมทั้งเป็นพื้นที่ทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปุ๋ย โดยโครงการฯ ได้ทำปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือในโครงการWaste to Zero


ด้านศูนย์ทดลองเลี้ยงแพะพระราชทาน มีการทดลองผสมข้ามสายพันธุ์แพะ เพื่อพัฒนาให้ได้สายพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศในเขตภาคกลาง เติบโตเร็ว ให้เนื้อสูง จำหน่ายได้ราคาดี เป็นต้นแบบและพระราชทานแก่ประชาชนต่อไป ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแม่แพะ พันธุ์บอร์จำนวน 4 ตัว ให้กับศูนย์ฯ ที่เริ่มทดลองเลี้ยงและผสมพันธุ์แพะ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565


ในการนี้ ได้พระราชทานชื่อลูกแพะ 2 ตัว ชื่อว่า หมี่กรอบ และ ข้าวมันไก่ตอน จากนั้น พระราชทานกระบือ ในโครงการเกษตรรวมใจ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก่เกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามโครงการธนาคารโค-กระบือ


โอกาสนี้ ทรงเปิดศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เพื่อเพาะผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืด สำหรับพระราชทานให้กับประชาชน รวมทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายผลิตลูกพันธุ์ปลานิลจิตรลดาอย่างน้อย 1,000,000 ตัวต่อปี ผลิตลูกพันธุ์ปลาท้องถิ่น ได้แก่ ลูกพันธุ์ปลาสลิด ลูกพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ให้ได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ตัวต่อปี


จากนั้น ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการเกษตรรวมใจ อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ซึ่งกองทัพบกดำเนินงานสนองพระราชดำริ ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย เมื่อปี 2554 ปัจจุบัน ดำเนินงาน 4 โครงการ 11 กิจกรรม


อาทิ โครงการเลี้ยงสัตว์ปีก และสัตว์เคี้ยวเอื้อง โครงการประมงน้ำจืด และโครงการส่งเสริมอาชีพการแปรรูปผลผลิตจากการเกษตร อาทิ การแปรรูปน้ำหม่อนพร้อมดื่ม ให้กับโรงเรียนวัดสุตธรรมาราม และโรงเรียนวัดสันตยาราม อำเภอเมืองนครนายก เพื่อให้มีรายได้เสริมในช่วงปิดภาคเรียน


ส่วนกิจกรรมการทำนาข้าวของนักเรียนเตรียมทหาร เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนเตรียมทหาร และโครงการเกษตรรวมใจ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้นักเรียนเตรียมทหาร เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรปลอดภัย โดยจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเพาะพันธุ์กล้าข้าว , การเตรียมแปลงนา , การปลูกข้าวโดยใช้แรงงานคน และเครื่องปักดำ


ทั้งนี้เป็นการเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติ Learning by Doing เพื่อให้นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารการสัตว์ ได้นำไปปรับใช้หลังปลดประจำการ ต่อยอดขยายผลต่อไป ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ที่ได้พระราชทานความมั่นคงทางอาหาร แก่หน่วยของทหารพันธุ์ดี ชุมชน ตลอดจนประชาชน ทั้งในยามปกติ และในยามที่บ้านเมือง ประสบภาวะวิกฤต อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่งคงของประเทศไทยสืบไป


โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้สมาชิกโครงการทหารพันธุ์ดี กรมการสัตว์ทหารบก และนักเรียนเตรียมทหาร เฝ้าทูลละอองพระบาท พร้อมทั้งมีพระราชดำรัส โดยทรงชื่นชมการทำงาน ที่นอกจากจะเป็นที่ทดลองศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรของคนในประเทศแล้ว ยังได้ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการดำเนินงานสืบสานพระราชดำริ ที่เป็นองค์ความรู้ อันเป็นประโยชน์ก็จะไม่สูญหายไป