สังคม

ปลัด พณ. ลั่นไม่ใช่หน้าที่กระทรวงดูแลค่ากลั่นน้ำมัน ชี้มีกฎหมายเฉพาะ - กพช. รับผิดชอบ

โดย nutda_t

21 มิ.ย. 2565

78 views

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ขณะปฏิบัติราชการอยู่ที่ประเทศไอซ์แลนด์ ประเด็นที่มีข้อเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เข้ามากำกับดูแลค่าการ กลั่นน้ำมันเพื่อช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลง



นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า เรื่องราคาน้ำมันที่กำลังมีคนชี้มาที่กระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งไม่ใช่ ขอเรียนว่า อำนาจหน้าที่ในเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งน้ำมันนั้นเป็นสินค้าเฉพาะมีข้อกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแล กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันฉบับที่หนึ่ง คือ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มาตรา 6(2) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไว้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน โดยให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการพัฒนาและบริหารพลังงานของประเทศ ถ้าดูกฎหมายนี้จะเห็นว่าคนเกี่ยวข้องกับราคาพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการเฉพาะคือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นเลขานุการ ) ซึ่งการกำหนดราคา หรือการวางหลักเกณฑ์เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาและบริหารพลังงานแห่งประเทศด้วย เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของกระทรวงพลังงาน



กฎหมายนี้กำหนดเอาไว้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับราคาพลังงาน และที่ท่านรองนายกฯสุพัฒนพงษ์ ให้ข่าวไว้เมื่อ 2-3 วันที่แล้ว ที่กระทรวงพลังงานได้มีการให้ข่าวที่อาจจะมีแนวคิดการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงาน พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้ มาตรา 5 ให้มีการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานการณ์วิกฤติน้ำมัน จะเห็นชัดว่าราคาพลังงานเป็นเรื่องที่ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่บอกไว้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง



และมาตรา 27 พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำหนดไว้ว่าใครเป็นผู้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมาตรา 27(1)โรงกลั่น 27(2) ผู้นำเข้า ก็จะเห็นอยู่แล้วว่ากองทุนมีหน้าที่อะไรในเวลาสถานการณ์วิกฤติ ใครควรเข้ามาบริหารจัดการและใครที่จะมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุน คือ ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศซึ่งเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันด้วย ซึ่งเป็นโรงกลั่นการใช้เงินเข้ากองทุนให้เป็นไปตามคณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด ประธานคือกระทรวงพลังงาน ที่กระทรวงพลังงานให้ข่าวคือการใช้อำนาจตามกฎหมายที่กระทรวงพลังงานรับผิดชอบกำกับดูแลอย่างถูกต้องทางกฎหมายที่สุด กรณีใดๆที่เป็นสินค้าเฉพาะโดยหลักการของกฎหมายต้องไปว่าที่กฎหมายเฉพาะนั้นๆก่อน



ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการว่า ถามว่าทำไมไม่ใช้ราคาตาม พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ กรณีที่มีคนถามเช่นนี้นั้น ก็ขอเรียนว่าโดยหลักการของกฎหมาย หากมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะสำหรับเรื่องใด นักกฎหมายย่อมเข้าใจดีว่าต้องเดินเริ่มจากตรงนั้นเพราะกฎหมายกำหนดไว้ให้เห็นชัดเจนแล้ว



ถ้าไปดูใน พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติท้ายกฎหมายจะเขียนไว้ ด้วยว่า การบริหารพลังงานของประเทศ กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้มีเอกภาพจึงได้จัดตั้ง คณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อให้การบริหารจัดการเรื่องพลังงานมีเอกภาพ ดังนั้นกฎหมายชัดเจนที่สุด วัตถุประสงค์ ข้อกำหนด ที่มาเรื่องการมีกฎหมายฉบับนี้ ณ เวลานี้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจึงอยู่ตามกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว เพื่อตอบคำถามหลายข้อ โดยเฉพาะในสังคมโซเชียลมีเดีย ขอให้เข้าใจว่าไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่แรก



จากนั้นผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ที่มีคนกล่าวอ้างว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน กกร.โดยตำแหน่งและในกฎหมายกำหนด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าควบคุม อยู่ในอำนาจของประธาน กกร.อยู่แล้ว ตรงนี้ไปสัมพันธ์กับ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลหรือไม่



นายบุณยฤทธิ์ ตอบว่า ทุกวันนี้ LPG มีการประกาศราคาโดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานเป็นคนกำหนดราคา LPG ที่จะมีการปรับราคาขึ้นเป็นขั้นบันไดว่า เดือนละเท่าไหร่ต่อครั้ง เราจะเห็นว่ากระทรวงพลังงานเป็นคนประกาศ ด้วยเหตุผลที่บอกแล้วและใช้เงินกองทุนในเรื่องนั้น วิธีการบริหารโดยใช้กฎหมายที่เขามีอยู่ แต่ถามว่ากระทรวงพาณิชย์ทำอะไรในเรื่องของ LPG หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ก็คือ เมื่อกระทรวงพลังงานประกาศราคาออกมาแล้ว ใครขายเกินกว่านี้กระทรวงพาณิชย์จับ โดยอาศัยมาตรา 29 คือ ผู้ใดจงใจจำหน่ายราคาสูงเกินสมควร มีโทษผิดพระราชบัญญัติราคา เช่น กระทรวงพลังงานแจ้งราคาถังละ 380 บาท ถ้าใครขาย 400 บาท กระทรวงพาณิชย์จับ เป็นต้น อันนี้เป็นตัวอย่างที่จะเห็นว่า LPG ประกาศราคาโดยกระทรวงพลังงานมาตลอดดังนั้นคำถามคือ เพราะเหตุใดกระทรวงพลังงานประกาศราคา LPG ได้ แต่พอมาราคาน้ำมันเหตุใดบางคนจึงมาบอกว่าให้กระทรวงพาณิชย์เป็นคนกำกับดูแล



ผมคิดว่าหน่วยงานราชการทุกหน่วยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ กฎหมายใครก็กฎหมายคนนั้น กฎหมายกำหนดความรับผิดชอบอยู่ที่ใดผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ควรที่ผู้ใดจะมาบิดเบือนหลักการนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ