เลือกตั้งและการเมือง
“พิธา” ชี้ งบประมาณ ปี 66 เปรียบเหมือนช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้
โดย paranee_s
31 พ.ค. 2565
167 views
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ชี้แจงเหตุผลที่ไม่รับหลักการงบประมาณปี 2566 ได้ โดยย้ำว่าการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ถือเป็นปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ นับเป็นปีแห่งความหวังแสงสว่างปลายอุโมงค์ของประชาชน หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ขณะเดียวกันปีหน้าก็จะในการเลือกตั้งใหญ่ เป็นจังหวะที่ประเทศ กำลังมีความหวังหรือ "น้ำขึ้นก็ต้องรีบตัก"
แต่หากกระบวยตักน้ำ ซึ่งหมายถึงการลงทุนเล็ก ก็ไม่สามารถที่จะตักน้ำได้ โดยย้ำว่าปีงบประมาณนี้ เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องลงทุน แต่เวลาน้อยในการศึกษา ร่างกฎหมายงบประมาณเสมือนเป็น ส.ส.ตาบอดคลำช้าง
โดยการอภิปรายเน้นไปที่โครงสร้างงบประมาณของประเทศ ในการใช้ภาษีของประชาชน เรียกว่าช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้เนื่องจากรายได้ผันผวน ส่งผลต่อการกู้ที่หลุดกรอบ จากรายได้ที่ประมาณการจัดเก็บ 2,490,000 ล้านบาท ในขณะที่มีรายจ่าย 3,185,000 ล้านบาท ทำให้จะต้องกู้ 695,000 ล้านบาท
และส่วนใหญ่ยังใช้งบไปเพื่อเป็นรายจ่ายบุคลากรที่สูงถึง 40% อีกส่วนเป็นงบที่เอาไว้ชำระหนี้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงบบุคลากร ใช้หนี้สาธารณะ ใช้หนี้นโยบาย หนี้ ธกส. สุดท้ายเหลือจริงๆ แค่ 1 ใน 3 เพื่อเอาไว้รับมือกับปัญหาปีต่อปี และความท้าทายในอนาคต
นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบการเก็บภาษีสูงถึง 40% และระบบภาษีแบบ 1 คนเลี้ยง 9 คน มีจำนวนผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนจากแรงงาน 40 ล้านคน
เมื่อรายได้ผันผวนลดลงได้ แต่รายจ่ายแข็งตัว ก็ต้องกู้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้ว ต่างขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้รัฐบาลก็ต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
พร้อมกันนี้ อภิปรายถึงงบเบี้ยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ มูลค่ากว่า 322,790 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงเท่ากับงบของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งที่กระทรวงใช้ดูแลเด็กทั้งประเทศ นี่คือปัญหาช้างป่วยที่ดูแลไม่ได้
ส่วนงบประมาณด้านการเกษตรส่วนใหญ่เป็นงบของอดีตไม่ใช่งบของอนาคต ส่วนงบกระทรวงวัฒนธรรมเน้นสร้างคุณธรรมจริยธรรม แต่ไม่ได้เน้นสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรืองบซอฟพาวเวอร์ มีอยู่ 60 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ยังเปรียบเทียบการตัดฟันครบการบริหารเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมของการจัดสรรงบประมาณ โดยยกตัวอย่างการจัดสรรงบประมาณด้านอีอีซี ตั้งไว้ 11,000 ล้านบาท คนที่ได้รับผลประโยชน์คือนายทุนใหญ่ในทุนต่างชาติและ 26 นิคมอุตสาหกรรม ในขณะที่เอสเอ็มอีตั้งไว้ 2700 ล้านบาท แต่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3ล้านราย เฉลี่ยแล้วรายละ 900 บาท
นายพิธา ทิ้งท้ายสำหรับการจัดทำงบประมาณแห่งความหวัง ว่า จะต้องเป็นการจัดสรรงบประมาณที่กระจายโดยไม่กระจุก เป็นงบที่มาจากข้างล่างขึ้นบน เป็นงบจากข้างนอกเข้าหาตัวเรา เช่น ปัจจุบันการแบ่งรายได้ อปท.อยู่ที่ 70 ต่อ 30 ซึ่ง จะมีรายได้สุทธิ 700,000 ล้านบาท เฉลี่ย7,850 องค์กรส่วนท้องถิ่นละ 89 ล้านบาท
หากเปลี่ยนเป็น 50 ต่อ 50 เพราะจะมีรายได้สุทธิ 1,200,000 ล้านบาทเฉลี่ยรายได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 153 ล้านบาททันที ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะนำไปแก้ไขปัญหาหรือเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นได้ตรงจุด ทั้งการทำน้ำประปา การกำจัดขยะ หรือชลประทานย่อย ถือเป็นการระเบิดระบบเศรษฐกิจ