สังคม

ต้องถอดบทเรียนอีกกี่ครั้ง? 100 วันการสูญเสีย “หมอกระต่าย” ถนนเมืองไทย เปลี่ยนไปหรือไม่

โดย thichaphat_d

6 พ.ค. 2565

89 views

ต้องถอดบทเรียนอีกกี่ครั้ง? การจากไปของคุณหมอกระต่าย พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หลังประสบอุบัติเหตุ ถูกรถจักรยานยนต์ชนเสียชีวิต ในทางข้าม หน้าโรงพยาบาลสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ บนถนนพญาไท ความสูญเสียที่ประเมิณค่าไม่ได้ ครบรอบ 100 วัน ที่สร้างความเจ็บปวดให้กับครอบครัว สร้างความเศร้าใจให้กับสังคม มากกว่านั้น คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้คน ตระหนักในความปลอดภัยของคนเดินเท้ามากขึ้น



สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUTI) ร่วมมือกับ MAYDAY และ Rabbit Crossing จัดกิจกรรม "100 วัน หมอกระต่าย ก้าวต่อไปบนทางเท้า” เมื่อวันที่ วันที่ 29 เมษายน 65 ที่ผ่านมา โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่ง กล่าวเปิดโครงการ #เพื่อนแท้ร่วมทาง และโครงการ ทางม้าลายกระต่ายน้อย มีการมอบสติกเกอร์ “รถคันนี้จอดให้คนข้าม” และ “รถคันนี้ไม่ฝ่าไฟแดง” ให้นำไปใช้ติดรถ โดยหวัง จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อนำสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องความปลอดภัยของคนสัญจรบนทางเท้า ไม่ให้เกิดการสูญเสียที่ซ้ำรอย และเชิญชวนผู้ร่วมงาน สงบนิ่งเพื่อระลึกถึงการจากไปของคุณหมอกระต่าย



หนึ่งร้อยวันแห่งการจากไปของ ‘คุณหมอกระต่าย’ ความสูญเสียที่ยังคงความเศร้า และสร้างความมืดมนให้กับครอบครัว

นายแพทย์อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล คุณพ่อของคุณหมอกระต่าย กล่าวทั้งน้ำตา และยอมรับว่า ที่ผ่านมา เป็น 100 วันแห่งความเป็นจริง สำหรับคนเป็นพ่อและครอบครัว ที่ยังคงมีแต่ความเศร้าและความมืดมน เป็นการสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น

คุณพ่อของคุณหมอกระต่ายกล่าวว่า 100 วันหลังการสูญเสีย แม้มีการปรับปรุงทางม้าลายให้ดีขึ้น หรือมีกิจกรรมรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของทางข้ามทุกวันที่ 21 ของเดือน (ตรงกับวันที่คุณหมอกระต่ายเสียชีวิต) ซึ่งในช่วงแรกเป็นที่สนใจของผู้คน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กระแสดังกล่าวก็ค่อนข้างจะแผ่วลง

การพัฒนาทางข้าม ทางเดินเท้า ให้มีประสิทธิภาพ ถือเป็นการปรับปรุงทางกายภาพ แต่อีกส่วนที่จะช่วยสนับสนุนได้มากขึ้น คือการกำหนดความเร็วในการขับขี่ ซึ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอการแก้กฎหมาย ใช้เพียงอำนาจทางการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับตำรวจจราจร ในการกำหนดความเร็วให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดเรื่องการทำผิดกฎจราจร โดยเฉพาะการชนคนบนทางม้าลาย จะต้องเป็นโทษหนัก ไม่ใช่แค่โทษประมาทอย่างที่ผ่านมา ไม่มีการลดหย่อนหรือละเว้นโทษ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่าง และสร้างสามัญสำนึกให้ผู้คน

“ทุกชีวิตมีคุณค่า คุณหมอกระต่าย มีคุณค่าต่อครอบครัว และเป็นอนาคตเป็นความหวังของคนไข้อีกมากมาย เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น สังคมไทยควรจดจำ แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมยังหวังว่าทุกท่านที่ได้รำลึกถึงคุณหมอกระต่ายในวันนี้ จะช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยน กลายเป็นวัฒนธรรมเรื่องความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนนของสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” นพ.อนิรุทธ์ คุณพ่อคุณหมอกระต่ายกล่าว



เพื่อนหมอรวมกลุ่ม เรียกร้องสิทธิพื้นฐานที่ควรได้ เพื่อ “ทางเท้า-ทางข้าม” ที่ปลอดภัย ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยหมอกระต่าย

แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ หรือ หมอเจี๊ยบ ตัวแทนกลุ่ม Rabbit Crossing กลุ่มเพื่อนของคุณหมอกระต่าย ที่รวมตัวกัน อาสาเป็นตัวกลางรับเรื่องร้องเรียน และผลักดันประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่

1. ผลักดันตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับทางม้าลายให้เข้มงวดขึ้น

2. ปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของทางม้าลายให้ปลอดภัยอยู่เสมอ

3. รณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ในวิธีใช้ทางข้าม ไม่เกิดการละเมิดทางม้าลาย และทางม้าลายต้องศักดิ์สิทธิ์

“เราไม่อยากให้เหตุการณ์การสูญเสียแบบนี้เกิดขึ้นอีก และไม่อยากให้เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง เราตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา เพราะเห็นความสำคัญว่า นี่คือสิ่งพื้นฐานที่พวกเราควรได้รับ เราไม่ยอมให้กับปัญหาเหล่านี้ จึงขอเป็นอีกหนึ่งเสียง ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้” หมอเจี๊ยบ กล่าว



นาย อภิเชฎฐ อ่อนกอ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ใช้ทางเท้า ในฐานะที่ใช้วีลแชร์ในการเดินทางทุกวันว่า ปัจจุบันแม้แต่คนปกติยังใช้ทางเท้าอย่างยากลำบาก ทางเดินพื้นไม่เรียบ มีสิ่งกีดขวาง และบางที่ไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็น 

“กว่าวีลแชร์จะลงถนนได้ อาจต้องเลยไปถึงปากซอยสักที่ เพื่อหาทางลง และไปต่อที่ทางม้าลาย แล้วค่อยมาลุ้นอีกทีว่าจะได้ข้ามหรือไม่ ผมรู้สึกว่า ถนนไม่ควรจะเป็นแค่ของคนใช้รถ มันควรจะเป็นของคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเดินเท้าหรือใครก็ตาม” อภิเชฎฐ กล่าว


100 วันที่ผ่านไป อะไรเปลี่ยนไปบ้าง?

หลังจากการเสียชีวิตของคุณหมอกระต่าย ได้มีการรณรงค์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการใช้ทางม้าลาย กลายเป็นอีเวนท์ใหญ่ หลายที่มีการปรับปรุงทางกายภาพ หลายมีการที่รณรงค์ทางจิตสำนัก

แต่ดูเหมือนว่าวันเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็ดูคล้ายจะเลือนลางลง หากใครลงพื้นที่จุดเกิดเหตุก็ยังพบว่าอันตรายไม่ต่างจากวันที่หมอกระต่ายต้องเสียชีวิต

คำถามคือเกิดอะไรขึ้น...




ไทยติดอันดับ ‘เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ’ สูงอันดับต้นของโลก ขณะที่บทลงโทษยังคงดิ้นได้

ประเทศไทย มีอัตราประชากรที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ติดอันดับ 1-3 ของโลกมาตลอด ข้อมูลจากศูนย์อุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน พบว่า กรุงเทพมหานคร มีอุบัติเหตุทางถนน 97,926 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 816 คน ในปี 2564

และตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2565 มีอุบัติเหตุทางถนนแล้ว 32,153 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไปแล้ว 316 คน ซึ่ง "หนึ่งในนั้นคือ พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือคุณหมอกระต่าย"

วันเกิดเหตุ 21 ม.ค. 65 สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก ขับรถจักรยานยนต์ big bike สีแดง ชิดเลนขวามาด้วยความเร็ว 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ว่าขณะนั้นรถคันอื่นจะจอดให้คนเดินข้าม แต่นายตำรวจคนดังกล่าว กลับไม่หยุดรถ และขับเบี่ยงออกไปยังช่องทางขวา ทำให้ชนคุณหมอกระต่าย เสียชีวิต

ตามกฎหมายมาตรา 291 ระบุ "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

อุบัติเหตุที่ทำให้คุณหมอกระต่ายเสียชีวิตในครั้งนี้ ศาลอาญามีคำพิพากษาว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ กระทำผิดตามฟ้อง รวม 9 ข้อหา ทำการปรับ 4,000 บาท จำคุก 1 ปี 15 วัน ไม่รอลงอาญา  โดยโทษที่ได้รับ เป็นโทษที่ลดลงมาแล้วกึ่งหนึ่ง เนื่องจากรับการสารภาพ และมีการยึดรถจักรยานยนของกลาง รวมทั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว


ยังมีข้อสังเกตจากสังคมว่า โทษที่ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ได้รับนั้น เหมาะสมหรือไม่?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่ากรณีดังกล่าว แม้จะมีโทษสูงสุด 10 ปี  แต่ก็ไม่ได้ระบุโทษขั้นต่ำไว้ จึงเท่ากับว่าศาลสามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าจะลงโทษเท่าไหร่

"และในมุมมองของสังคมอาจจะยังกังขาว่า จริงอยู่ที่รูปการณ์ของกรณีนี้เป็นการกระทำโดยประมาท
แต่เป็นการประมาท “ในขั้นกว่า” หรือ การประมาทที่ไม่ควรประมาทหรือไม่?"

ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้รักษากฎหมาย แต่กลับขับรถเร็ว รวมถึงออกไปเลนขวา นอกจากนี้ เหตุที่เกิดขึ้น ยังเกิดขณะที่ผู้เสียชีวิตกำลังข้ามทางม้าลายที่ควรเป็นที่ที่ปลอดภัยในการข้ามถนน มิพักต้องพูดถึงพฤติกรรมชวนกังขาหลาย ๆ อย่างหลังเกิดเหตุ เหล่านี้คือข้อสงสัยว่า โทษที่ได้รับนั้นเหมาะสมแล้วหรือ

"นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การที่กฎหมายไม่ได้เอาผิดอย่างเหมาะสมมากนัก ทำให้คนไม่เกรงกลัวกับกฎหมายหรือกระทำผิดบนท้องถนนหรือไม่?"

ยกตัวอย่าง กรณีที่ผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง เมาแล้วขับ ชนสามีภรรยาคู่หนึ่งเสียชีวิต แต่หลังจากนั้นก็เยียวยาทายาทของผู้เสียชีวิต ด้วยเงินมหาศาล สุดท้ายศาลก็ลดโทษ โดยไม่ต้องจำคุก กรณีเช่นว่า หากเกิดในต่างประเทศ แม้จะมีการเยียวยา แต่ผู้กระทำผิดก็ต้องรับโทษที่ค่อนข้างหนัก

ระบบเช่นนี้จึงอาจทำให้ถนนในประเทศไทย ไม่อาจก้าวข้ามไปสู่ดินแดนของความปลอดภัยได้...



นักวิชาการเผย แนวทางการแก้ไข ปรับ 3 ด้าน สู้ความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้า-ทางข้าม

น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า การกำหนดความเร็วเขตเมืองให้ช้าลง เป็นสิ่งที่ควรเริ่มทำ จากเดิม กฎหมายระบุความเร็วสูงสุดเขตเมืองอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หากเกิดอุบัติเหตุชนคนข้าม ผู้ถูกชนจะมีแรงปะทะเท่ากับการตกตึกแปดชั้น เป็นความเร็วที่ยังถือว่าอันตราย เหตุนี้ จึงควรทำให้ความเร็วเขตเมืองลดลง โดยอาจยึดตามความเร็วสากลที่ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ น.พ.ธนะพงศ์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว 3 ด้าน คือ

1. ด้านกายภาพ ที่ต้องทำม้าลายให้ชัดเจน มีเครื่องหมายให้รู้ว่าข้างหน้าเป็นทางม้าลาย เพื่อให้มีการชะลอความเร็ว

2. ด้านสังคม ต้องสร้างกระแสให้คนรับรู้ว่าเมื่อถึงทางม้าลายต้องชะลอ และหยุดให้คนข้าม และไม่บีบแตรใส่รถที่ชะลอ

3. ด้านการเรียนรู้ สำหรับคนเดินให้สามารถประเมินความเสี่ยง เมื่อเดินข้ามทางม้าลายได้ และสำหรับคนขับรถ เมื่อเห็นรถคันหน้าชะลอ ต้องไม่แซงออกขวา

โดยทำควบคู่กับด้านกฎหมาย ที่ต้องนำเทคโนโลยีมาบังคับใช้ เช่นกล้องตรวจจับ กรณีไม่ชะลอหรือหยุดให้คนข้าม และเพิ่มบทคงโทษกรณีชนคนบนทางม้าลาย ที่ไม่ใช่แค่โทษประมาท

“กรณีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางข้ามของคุณหมอกระต่าย แม้ทำให้ผู้คนตระหนักได้ในช่วงหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้อยู่ในช่วงขาลงของกระแส แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น และน่านำมาคิดต่อคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ ประชาชนมักจะกล่าวถึงเรื่องราวของคุณหมอกระต่าย และถามหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มารับผิดชอบ เป็นแรงสะท้อนจากการเชื่อมโยงเหตุการณ์ เพื่อการแก้ไขปัญหา”

หนึ่งเหตุการณ์ ความสูญเสีย สู่การตื่นรู้และตระหนักถึงปัญหา สร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีจุดมุ่งหมายคือความปลอดภัยในชีวิตของคนเดินเท้า ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ควรมีควรมีการสูญเสียใด ต้องแลกไปเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในสังคม

คุณอาจสนใจ