ช่อง 3 ตามหาผู้ว่าฯ เลือกตั้ง

วิสัยทัศน์ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. "ด้านสาธารณสุข" ต่อการดูแลปัญหาสุขภาพคนเมืองกรุง

โดย pattraporn_a

5 พ.ค. 2565

47 views

ประเด็นเรื่องสิทธิการรักษาทั่วถึงก็เป็นอีก 1 ประเด็นที่คนกรุงเทพมหานครตั้งตารอฟังนโยบายการแก้ปัญหาในจุดนี้ หลังสถานการณ์โควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เช่นเดียวกับในช่วงสถานการณ์ปกติ ที่มีข้อมูลจากมูลนิธิเส้นด้ายออกมาว่ามีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ เข้าไม่ถึงระบบการรักษากว่า 50,000 คน 


ระบบดูแลรักษาหลัก หรือ Primary care เป็นอีก 1 ประเด็นที่มูลนิธิเส้นด้ายหยิบยกขึ้นมาถามผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้แสดงแนวคิดและวิสัยทัศน์ต่อนโยบายการแก้ปัญหา เพื่อเกิดระบบการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง หลังเกิดปัญหาจากวิกฤตโควิด19 และ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลตามภาพที่ปรากฎในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยปัญหาที่น่าสนใจ คือ ปัญหาสิทธิเข้าถึงการรักษา และ ปัญหาผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า ในเขตกรุงเทพมหานครมีผู้ป่วยติดเตียงมากถึงกว่า 7,000 คน แต่จากข้อเท็จจริงที่มูลนิธิเส้นด้ายได้รับ อาจมีผู้ป่วยกลุ่มนี้มากถึงกว่า 50,000 คน


ผู้สมัครส่วนใหญ่มองว่า ปัญหาหลักเกิดจากระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครที่สะสมมานาน ทั้งเรื่องการขาดบุคลากรและเครื่องมือรักษาที่ครอบคลุมผู้ป่วย จึงควรเพิ่มศักยภาพในส่วนนี้เป็นอย่างแรก เพื่อให้ประชาชนเข้ารับสิทธิอย่างทั่วถึง เช่น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 และ นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3


ขณะเดียวกันก็มีผู้สมัคร 2 คน ที่มีมุมมองต่อเรื่องการแก้ปัญหาสิทธิเข้ารับการรักษาแบบทั่วถึง ด้วยการพัฒนาระบบการรักษาขั้นต้น หรือ ปฐมภูมิ เช่น ศูนย์สาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ที่มีถึง 69 แห่ง ซึ่งปัญหาโควิด 19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นได้ชัดว่า กรุงเทพมหานครไม่มีระบบการจัดการที่ดีไม่ทั่วถึง และไม่ฟังเสียงจากประชาชน


ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า ต้องเริ่มแก้จากปัญหาคอขวดที่คนไข้กระจุกตัว และ ระบบราชการที่มีปัญหา ต้องแก้ปัญหาใหม่ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดในพื้นที่พื้นที่ชุมชน


ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 มองว่า การแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นปฐมภูมิ คือ ศูนย์สาธารณสุขชุมชนให้มีศักยภาพ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เน้นการกระจายความทั่วถึงเข้าสู่พื้นที่ชุมชนให้มากขึ้นในลักษณะเส้นเลือดฝอย


ปัจจุบันกรุงเทพมหานครระบบการรักษาแบบปฐมภมิ นั่นคือ ศูนย์สาธารณสุขกทม. จำนวน69 แห่ง และของเอกชน รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ รวมแล้วราว 300 แห่ง ขณะที่เส้นด้ายให้ความเห็นว่าควรมีสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิจำนวน 500 แห่ง ให้ครอบคลุมการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนกรุงเทพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชกรุงเทพมหานครต้องกลับไปทำการบ้านในอนาคต

คุณอาจสนใจ

Related News