เศรษฐกิจ

ผู้ประกอบการขนส่งขึ้นค่าบริการแล้ว 15% หลังดีเซลขึ้นราคา

โดย paranee_s

2 พ.ค. 2565

144 views

นายพีระพัชร์ จิระวัฒนเอก รองประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังรัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้ขึ้นราคาบริการค่าขนส่ง 15% มีผลไปแล้วทันที คิดเป็น 80 ถึง 90% ของลูกค้าที่ให้บริการอยู่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นส่วนที่ติดสัญญาเก่า และยอมรับว่าลูกค้าผู้ว่าจ้างบางราย ยังไม่ได้ตัดสินใจทำสัญญาใหม่


อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่เข้าใจผู้ประกอบการ เนื่องจากแบกรับต้นทุนมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้การขึ้นราคาค่าขนส่ง กระทบต่อการขนส่งทั้งระบบ และทุกขนาดธุรกิจ ตั้งแต่ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภครายย่อย ไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งต้องรอประเมินอีกสักระยะ ว่าผู้ว่าจ้างหายไปมากน้อยเพียงใด และไทยยังมีคู่แข่งส่งออกอย่างมาเลเซียที่ราคาน้ำมันถูกกว่าไทยเกือบครึ่ง


ขณะเดียวกันรูปแบบการทำสัญญาขนส่งก็เปลี่ยนไป จากเดิมกำหนดที่ระยะ 3-6 เดือน ลดลงเหลือข้อตกลงในช่วง 30 วัน และกำหนด เพดานราคาน้ำมันไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร ดังนั้น หลังวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ซึ่งหมดระยะมาตรการที่กรมสรรพสามิตได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2565 ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร ที่ทำให้อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลบี 7 ลดลงจาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาทต่อลิตร นั้น


สหพันธ์ฯก็จะประเมินการปรับขึ้นค่าขนส่งอีกครั้ง ซึ่งต้องพิจารณากับแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย พร้อมยืนยันแนวทางแก้ไขรัฐบาลสามารถทำได้ในเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันที่ซ้ำซ้อน และการลดสูตรผสมน้ำมันปาล์มในน้ำมันดีเซลภาคการขนส่ง ซึ่งกลุ่มเรียกร้องมาโดยตลอดแต่ไม่เป็นผล และยิ่งประเทศอินโดนีเซียจะขยายมาตรการลดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ก็ยิ่งกังวลว่าจะกดดันให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้นไปอีก


และในวันนี้ ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้เข้าหารือกับพลตำรวจตรี เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เพื่อวางมาตรการป้องกันและปราบปรามกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ลักลอบขนส่งสินค้าเกินน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัญหารุนแรงมากขึ้นหลังลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล โดยพบว่ารถบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดอีกเกือบเท่าตัว


ผู้บังคับการตำรวจทางหลวงยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีส่วนรู้เห็นร่วมกระทำความผิด ทั้งนี้กำหนดให้สหพันธ์ฯ ร่วมกันแจ้งเบาะแสผ่านไลน์กลุ่มแบ่งเป็นรายภูมิภาค โดยมีผู้บังคับการในแต่ละภาคควบคุม และกำหนดให้เร่งดำเนินการตามกฎหมายภายใน 7 วัน ทั้งทางวินัยและอาญา ไม่เช่นนั้นจะต้องถึงมือทีมเฉพาะกิจ ที่ผู้บังคับการตำรวจทางหลวงได้แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ พร้อมเร่งประสานไปยังกรมขนส่งทางบกกรณีผู้ประกอบการที่ทำความผิดซ้ำซาก เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการเอาผิด ซึ่งเรื่องการติดแบล็กลิสต์นั้นเป็นเรื่องที่กรมขนส่งทางบกเป็นผู้ดำเนินการ


คุณอาจสนใจ