สังคม

นพ.ประสิทธิ์ ศิริราชฯ เตือนอย่าปล่อยให้ติดเชื้อมากเกิน เพราะอาจเกิดการกลายพันได้

โดย paranee_s

20 เม.ย. 2565

285 views

นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด -19 หลังจากเทศกาลสงกรานต์ ว่าการติดเชื้อต่อวันเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ประมาณ50,000 รายต่อวัน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อจะทะลุ 1 แสนรายหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ถึง แต่สิ่งสำคัญคือจะคุมสถานการณ์การติดเชื้อได้มากน้อยขนาดไหน รวมถึงต้องเฝ้าระวังอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก และใส่ท่อช่วยหายใจ ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้สูงอายุ อีกทั้งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งข้อมูลตอนนี้ผู้ที่ยังไม่รับวัคซีนโควิด-19 มีประมาณ 2.1 ล้านคน

และขอให้ประชาชนที่เดินทางกลับมาทำงาน ตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจATK หากพบเป็นผลบวกให้เข้าสู่ระบบการรักษา และติดต่อกลับไปยังต้นทางที่เดินทางมา เพื่อควบคุมความเสี่ยง และติดตามกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ โดย 2 แนวทางนี้เพื่อไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเกินที่ตั้งไว้

โดยตอนนี้พบว่าประชาชนจำนวนหนึ่งที่กลับมาทำงานแล้ว ตรวจไม่พบเชื้อแต่มาพบภายหลัง 3-4วัน ดังนั้นเน้นย้ำในช่วงแรกหลังกลับมาทำงาน ยังคงต้องเว้นระยะห่างส่วนบุคคลก่อน และมาตรการสาธารณสุข

ส่วนตัว ไม่อยากรอว่าต้องกี่สัปดาห์ถึงจะเห็นยอดผู้ติดเชื้อที่สูง หากเกินกว่าที่คาดไว้ อาจจะรับมือไม่ทัน ตอนนี้มาตรการอะไรที่สามารถดำเนินการได้ ต้องรีบทำ ตั้งสมมติฐานถึงแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น เกิน 5 หมื่นรายแน่นอน แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ถึงแสนราย ทุกคนต้องช่วยกัน เช่น การตรวจเชื้อ ATK หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง

นายแพทย์ประสิทธิ์ ย้ำอีกว่า อย่ามองว่า โอมิครอนไม่อันตราย ถึงแม้จะมีข้อมูลจากทั่วโลกว่า คนที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน นอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตน้อยกว่า ช่วงสายพันธุ์เดลตาระบาด แต่อย่าลืมว่าช่วงเดลตาระบาดนั้น การฉีดวัคซีนยังได้ไม่ครอบคลุม แต่ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก หมายความว่า วัคซีนเป็นตัวปกป้อง ทำให้คนที่ติดเชื้อโอมิครอน อาการไม่รุนแรง แต่คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดเพียง 2 เข็ม เกิน 3 เดือน ถือว่ายังมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะอาการหนักจากการติดเชื้อโควิด โอมิครอนได้

อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่หากไม่มีอาการ อาจกระทบระบบสุขภาพไม่มาก แต่ขณะเดียวกันก็จะมีอีกจำนวนหนึ่งที่จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 หากในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ศักยภาพในการดูแลก็จะถูกใช้เพิ่มตามไปด้วย ที่สำคัญ หากปล่อยให้มีการติดเชื้อเป็นจำนวนมากต่อไป ต้องระวังเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ เช่น ในประเทศอังกฤษ ที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้พบเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย XE สำหรับประเทศไทย ก็ไม่อยากเห็นกลายพันธุ์ของเชื้อขึ้นในประเทศ



คุณอาจสนใจ

Related News