สังคม
'หมอประสิทธิ์' ชี้ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้น แนะสงกรานต์นี้จะกลับ ตจว.ได้ ถ้าเร่งฉีดเข็ม 3
โดย thichaphat_d
21 ก.พ. 2565
194 views
เมื่อวานนี้ (20 ก.พ. 65) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การติดเชื้อโควิด สายพันธุ์โอมิครอน ได้คาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราเสียชีวิตทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง
แต่ที่ต้องติดตามคือ ตัวเลขผู้ป่วยหนักปอดอักเสบ และผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โดยข้อมูลเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เรามีผู้ป่วยปอดอักเสบ 500 รายทั่วประเทศ ตอนนี้เพิ่มเป็น 749 ราย ส่วนผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายจากเดิมประมาณ 100 ราย ก็เพิ่มเป็น 184
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตัวเลขระดับนี้ระบบสุขภาพของประเทศยังรับไหว เพราะเราสามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้กว่า 3 หมื่นเตียง เครื่องช่วยหายใจอีกประมาณ 2 พันเตียง ตอนนี้เราใช้ไปเพียง 10% แต่อย่าลืมว่าเรายังมีผู้ป่วยโรคทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้เตียงเช่นกัน ฉะนั้น หากตัวเลขป่วยหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจหากเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็จะต้องระวังมากขึ้น เพราะจะนำไปสู่ตัวเลขเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ เราเคยพูดกันว่าคนเสียชีวิตที่พบมากคือ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มสูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับยังไม่ครบตามเกณฑ์ แต่ขณะนี้ เราเริ่มพบว่าผู้เสียชีวิตได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่รับมานานมากกว่า 4 เดือนแล้ว ฉะนั้น นี่เป็นสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
“สำหรับการติดเชื้อที่ติดเพิ่มขึ้น แต่อัตราเสียชีวิตไม่มาก ตรงไปตรงมาว่าก็จะเกิดภูมิคุ้นกันขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะสบายๆ แล้วติดเชื้อกันไปหมด แต่เพียงยืนยันได้ว่าระบบสุขภาพเราจัดการได้อยู่” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ระหว่างนี้จนถึงเดือน เม.ย. หากเราเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง ก็เชื่อได้ว่าเดือน เม.ย.ปีนี้ น่าจะต่างจากปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วเรายังฉีดวัคซีนน้อยมาก แต่ปีนี้เราได้รับวัคซีนเข็มแรกเกิน 70% ขณะที่เข็มกระตุ้นก็เกิน 25% ฉะนั้น สงกรานต์ปีนี้ก็จะต่างออกไป แต่แน่นอนว่ายังไม่ถึงขั้นที่จะออกไปเล่นสาดน้ำได้ เพียงแต่เราจะสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ เราต้องทำตั้งแต่วันนี้ก่อนจะเดือน เม.ย. ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้มากขึ้นที่สุด ยกตัวอย่างบางประเทศที่ผ่อนคลายมากๆ ก็มีอัตราฉีดเข็ม 3 เกิน 50% แล้ว ดังนั้น ช่วงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีนที่ผ่านมาก็ถือเป็นการทดสอบระบบที่เราวางไว้ว่า หากติดเชื้อโควิดก็ให้เข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ทันทีไม่ต้องไปโรงพยาบาล แต่ต้องย้ำว่ากักตัวที่บ้านต้องเข้มงวด และไม่ออกจากบ้านจริงๆ หากทำได้เช่นนี้ ระบบสุขภาพก็จะไม่ล้น จึงเชื่อว่า เดือนเม.ย. ประเทศไทยจะกล้าพอที่จะเปิดมากกว่านี้ ถึงตอนนั้นการฉีดวัคซีนก็จะสูงขึ้นมากเช่นกัน
“สงกรานต์นี้ก็จะเป็นอีกการทดสอบที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้นเตรียมตัวให้ดี ฉีดวัคซีนให้เยอะ อย่างไรแล้ว เดือน มี.ค. เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องติดตาม หากเราดึงตัวเลขติดเชื้อต่อวันได้ หากติดเชื้อสูงสุดวันละ 2 หมื่นรายนิดๆ แล้วไม่ขึ้นต่อ ขณะที่การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงใกล้สงกรานต์ก็ต้องคุยกันว่าจะครื้นเครงได้ขนาดไหน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สังเกตได้ว่าขณะนี้แบ่งประเทศออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ประกาศชนะโอมิครอน เช่น ยุโรปตอนเหนือ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ ที่ยังติดเชื้อเยอะอยู่แต่ก็ฉีดวัคซีนเยอะเช่นกัน ด้วยเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องตัดสินใจเปิดประเทศ ซึ่งเราก็มั่นใจได้มากขึ้นว่า โอกาสกลายพันธุ์แล้วรุนแรงขึ้นมีน้อยมาก
และกลุ่มประเทศกล้าๆ กลัวๆ เช่นไทย ที่เราเริ่มผ่อน แต่ก็ยังห่วงๆ ไม่กล้าผ่อนเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ในการเปิดประเทศของไทย จะเห็นว่าขณะนี้คนไทยก็กล้าไปต่างประเทศมากขึ้น ส่วนมาตรการที่กำลังจะมีการพิจารณาใน ศบค.ชุดใหญ่ คือการปรับแนวทาง Test and Go ด้วยมาตรการตรวจ RT-PCR จากเดิมให้ตรวจ 2 ครั้งคือวันที่ 1 และวันที่ 5 ของการเดินทางเข้าประเทศ ก็จะพิจารณากันว่าอาจให้ลดเหลือ 1 ครั้งคือวันแรกที่เข้ามาถึง
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/OTaYgGT6Mdc