สังคม

กรมควบคุมโรค เผยผลสรุปมีผู้เสียชีวิตจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด 4 ราย

โดย nutda_t

18 ก.พ. 2565

241 views

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยการฉีดวัคซีนในประเทศไทยขณะนี้ ประชาชนได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 แล้ว 76.1% เข็ม 2 จำนวน 71% และเข็ม 3 จำนวน 26.8%



โดยสถานการณ์เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ในรอบ 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน โดยได้มีการรวบรวมข้อมูลในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ในจำนวนวัคซีนที่ฉีดทั้งหมด 120 ล้านโดส โดยเป็นวัคซีนซิโนแวค 26 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 46 ล้านโดส ชิโนฟาร์ม 14 ล้านโดส ไฟเซอร์ 27 ล้านโดส และโมเดอนา 4 ล้านโดส อาการทั่วไป คือมีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว



ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่เข้าข่ายการแพ้รุนแรง มีจำนวน 0.16 ต่อแสนประชากร แอสตราเซเนกา 0.05 ต่อแสนประชากร ซิโนฟาร์ม 0.02 ต่อแสนประชากร และไฟเซอร์ 0.04 ต่อแสนประชากร



ส่วนกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีรายงานจากวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 ราย ชิโนฟาร์ม 1 ราย และไฟเซอร์ 29 ราย ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มีจำนวน 6 ราย เป็นแอสตราเซเนกา 5 ราย และไฟเซอร์ 1 ราย



ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนที่ได้รับรายงาน 2,081 ราย ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาแล้ว 1,464 ราย โดยเกี่ยวข้องกับวัคซีน จำนวน 4 ราย และเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนจำนวน 177 ราย และเป็นภาวะร่วมจากโรคอื่น 938 ราย



ส่วนกรณีเด็กชายอายุ 12 ปี ที่เสียชีวิต หลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 วันที่ 25 มกราคม ไม่มีอาการผิดปกติ แต่ 3 วันหลังจากนั้น มีอาการปวดเข่า ไปรักษาที่คลินิก อาการไม่ดีขึ้น อาการปวดขาและแขนขาอ่อนแรงมากขึ้นทั้งสองข้าง หลังจากนั้นวันที่ 2 ไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนด้วยอาการแขนขาอ่อนแรง ยกขาไม่ขึ้น ขาลายทั้ง 2 ข้าง และไม่ปัสสาวะมานาน ตรวจร่างกายพบมีไข้สูง ขามีรอยจ้ำเขียว ยกขาไม่ขึ้น ไม่พบรอยบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน แค่สงสัยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งต่อที่โรงพยาบาลกระบี่ ได้รับยาปฏิชีวนะ และสารน้ำ วันต่อมาผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในวันที่ 3 กุมภาพันธ์



โดยผลการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญสรุปได้ว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะเข่าอักเสบจากการติดเชื้อ ร่วมกับมีการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยไม่พบลักษณะของการติดเชื้อบริเวณที่ฉีดวัคซีน เมื่อพิจารณาจากประวัติข้อมูลการตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน



อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า วัคซีนยังคงมีความปลอดภัยในการป้องกัน อาการป่วยหนัก และเสียชีวิต

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ