สังคม

สธ.จ่อปรับลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงโควิด เหลือ 7 วัน

โดย panwilai_c

14 ม.ค. 2565

65 views

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนเริ่มทรงตัว หากแนวโน้มดีขึ้น จะเสนอ ศบค.พิจารณาผ่อนคลายมาตรการ พร้อมพิจารณาลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงจากเดิม 10 วัน เหลือ 7 วัน



นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีฯสาธารณสุข นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯหลายกรม ร่วมแถลงถึง สถานการณ์โควิด -19 โดยระบุว่า ในฐานะภาครัฐบาล พร้อมสนับสนุนและรับฟังข้อเสนอจากทีมแพทย์ เพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากที่สุด หากทุกอย่างมีแนวโน้มดีขึ้น ขอยืนยันว่า จะเร่งเสนอ ศบค.พิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้เร็วที่สุด



ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า หลังเทศกาลปีใหม่ผ่านมา 14 วันแล้ว แนวโน้ม จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ค่อนข้างที่จะทรงตัว การแพร่กระจายของโรคคงที่ อัตราการเสียชีวิต ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปัจจัยหนึ่งมาจากตัวโรคที่รุนแรงน้อยลง และการฉีดวัคซีนโควิดที่คลอบคลุม ซึ่งทั่วประเทศขณะนี้ฉีดสะสม 108,594,507 ล้านโดส



ส่วนของการพิจารณาลดวันกักตัว ในกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7วัน จากเดิม 10 วัน โดยวันที่ 5-6 ต้องตรวจ ATK หากไม่พบเชื้อ ก็สามารถออกมาทำงานได้ และต้องปฏิบัติตามมาตรการ โดยในวันที่ 10 ต้องตรวจคัดกรองด้วย ATK อีกครั้ง หากเป็นลบก็ถือว่าพ้นมาตรการกักตัว



นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันถึงประสิทธิผลการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ในแต่ละเข็ม พบว่า การฉีดวัคซีนทุกประเภท ทุกสูตร มีประสิทธิผลสูงสุดร้อยละ 90-100 ป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต



ซึ่งมีนโยบายฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ในเดือนมกราคมนี้ จึงขอให้ประชาชนมาฉีดได้ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน และตามช่วงเวลาที่ได้รับในแต่ละเข็ม โดยปี 2565 กระทรวงฯได้สั่งซื้อวัคซีนไปแล้ว 90 ล้านโดส ยืนยันว่า มีเพียงพอแน่นอน



ขณะที่นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกถึง การบริหารจัดการเตียง ว่า ผู้ติดเชื้อที่จะเข้ารับบริการ มี 3 ประเภทคือ หน่วยตรวจเชิงรุก สถานพยาบาลและตรวจหาเชื้อด้วยตนเองจากชุดตรวจ ATK หากพบผลบวก จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการ และตรวจด้วยตนเองก็ให้ โทร1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา ก่อนประเมินอาการ เข้ารับการรักษา



โดยผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการ เน้นรักษาแบบ HI และ CI หากมีอาการรุนแรงจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนาม ใช้เวลาการักษา 10 วัน จากนั้นกลับบ้านได้



ข้อมูลล่าสุด ภาพรวมการครองเตียงวันที่ 13 มกราคม มีอัตราครองเตียงทั้งประเทศ 46,873 โดยกทม.ต้องใช้เตียงถึง 11,742 เตียง เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่า วันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา



ด้านทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. เปิดเผยว่า ได้ขยายศักยภาพเตียงในโรงพยาบาลเอกชนกลุ่มสีเขียว (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2565) ที่เปิดให้บริการขณะนี้มี 145 แห่ง 30,240 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียง 14,979 เตียง คงเหลือ 13,666 เตียง



ส่วนข้อกังวลที่ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิต จะไม่ครอบคลุมผู้ป่วยที่ตรวจATK และรักษาตัวที่บ้านนั้น อธิบดีสบส.ได้หารือกับ คปภ.และบริษัทประกันภัยแล้ว หากได้ข้อสรุปจะแจ้งให้รับทราบต่อไป



ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/jh-13jB0vAY

คุณอาจสนใจ

Related News