สังคม

ไซปรัสพบโควิดลูกผสม 'เดลตาครอน' ผู้เชี่ยวชาญชี้ อาจแค่ปนเปื้อนในแล็บ ยันยังไม่พบในไทย

โดย thichaphat_d

10 ม.ค. 2565

22 views

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า นักวิจัยในไซปรัสค้นพบเชื้อโควิด ที่ผสมระหว่างเชื้อเดลตากับเชื้อโอมิครอน


นายเลโอนดิโอส โกสตริกีส์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยไซปรัส เรียกเชื้อโควิดลูกผสมนี้ว่า 'เดลตาครอน' เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับเชื้อโอมิครอน แต่มีจีโนมของเชื้อเดลต้า


นอกจากนี้นายโกสตริกีส์ และทีมวิจัยพบผู้ติดเชื้อนี้ถึง 25 ราย อ้างอิงข้อมูลจากรายงาน อย่างไรก็ตามยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีผู้ติดเชื้อดังกล่าวอีกไหมหรือเชื้อชนิดนี้สร้างผลกระทบเช่นไร


“เราอาจจะได้เห็นเชื้อนี้มากขึ้นในอนาคต หากเชื้อสายพันธุ์นี้มีความรุนแรง หรือแพร่เชื้อได้ง่าย หรือระบาดอย่างแพร่หลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดของเชื้อเดลต้าและโอมิครอน” นายโกสตริกีส์ กล่าวในการสัมภาษณ์กับซิกมาทีวีฟรายเดย์ โดยเขาเชื่อว่าเชื้อโอมิครอนจะค่อยๆ กลืนเชื้อเดลต้าครอน


ล่าสุดทีมนักวิจัยได้ส่งผลการศึกษาไปยังจีไอเอสเอไอดี ซึ่งเป็นศูนย์รวมฐานข้อมูลที่ใช้ในการติดตามไวรัสแล้ว


ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูล ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่า เป็นข่าวหรือรายงานทางการ ซึ่งกรมวิทย์ฯ ติดตามข้อมูลจากทั่วโลกตลอดเวลา ขอให้ใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป ส่วนกรณีมีนักวิชาการระบุว่า การรายงานสายพันธุ์โอมิครอนของไทยต่ำกว่าความเป็นจริง


เรื่องนี้ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า สัดส่วนการรายงานเชื้อโอมิครอนมีทั้งสูง และต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเราตรวจสายพันธุ์จากผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศทุกคน ก็จะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ส่วนผู้ติดเชื้อในไทยไม่ได้ตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน ใช้วิธีการสุ่มตรวจ เราจะวางระบบการสุ่มตรวจ เพื่อที่จะดูสัดส่วนของการระบาดของสายพันธุ์ให้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด การป้องกันตัวเองยังเหมือนเดิมคือ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง


ส่วน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยกรณีข่าวนักวิจัยในไซปรัสพบเชื้อโควิดลูกผสม เดลตากับโอมิครอน ในชื่อ เดลตาครอน (Deltacron) 25 ราย ว่าจากการติดตามในฐานข้อมูลโลก GISAID ยังไม่พบรายงานดังกล่าว


"เห็นแต่ข้อมูลในโซเซียลมีเดีย ทั้งนี้การส่งข้อมูลเข้า GISAID จะผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการยืนยัน เชื่อว่าเร็วๆ นี้คงจะทราบแน่ชัดว่ามีลูกผสม (ไฮบริด) เดลตาครอนหรือไม่ หากมีจริงจะถือเป็นตัวแรกของโลกที่เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกันที่ผ่านมาใน GISAID ที่มีข้อมูลมากกว่า 6 ล้านตัวอย่าง ยังไม่เคยมีลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน ”


"เท่าที่ติดตามข้อมูลผ่านสื่อ ขณะนี้มีทั้งระบุว่า เป็นลูกผสมหรือไม่ก็มี 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยเคยพบในแคมป์คนงานที่ 1 คน มีทั้งสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา ซึ่งเป็นไปได้แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุพบเดลตาครอน 25 ตัวอย่างก็ยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นคงเกิดได้ไม่มาก คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมีทั้งเทคนิคการถอดแบบสายสั้นประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาว 2 -3 พันตำแหน่ง"


"การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ บางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้วิเคราะห์ผิดพลาดได้ แต่หากเป็นการถอดสายยาว อย่างศูนย์จีโนมฯ ก็ใช้วิธีนี้ จะสามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดชัดเจน รวมถึงเป็นลูกผสมหรือไม่ หรือเกิดจากการปนเปื้อนในแล็บวิจัย”


นอกจากนี้ ดร.วสันต์ ยังได้อ้างอิงถึง Twitter ของ Dr, Tom Peacock ผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสระดับโลก ชาวอังกฤษ ได้บอกว่า เป็นไปได้สูงที่เคสนี้จะเป็นการปนเปื้อนของสารพันธุกรรมโอมิครอนกับเดลต้าในแล็บ 


และเป็นเรื่องแปลกที่ คนที่ติดเชื้อนี้ ทั้งหมด มาจากคนละที่ ถ้าเป็นสายพันธุ์ใหม่จริง ควรจะมาจากที่เดียวกัน เพราะต้องเริ่มมาจากคลัสเตอร์เดียวกัน 


ด้านหัวหน้าหน่วยโรคอุบัติใหม่ของ WHO แพทย์หญิง มาเรีย ฟาน เคอร์เคิฟ ระบุ ขณะนี้กำลังติดตามไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ b.1.640 มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า IHU ตามชื่อสถาบันโรคติดเชื้อเมดิเตอเรเนี่ยน มาร์กเซย์ เชื่อตัวนี้อยู่ในสถานะที่ต้องติดตาม


WHO ได้รับรายงานเรื่องเชื้อตัวนี้ เมื่อกันยาปีที่แล้ว และจัดให้อยู่ในกลุ่ม VUM เมื่อพ.ย. ปีที่แล้ว คือเชื้อที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ เชื้อที่มีการกลายพันธุ์รหัสพันธุกรรมที่น่าสงสัย อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคต



คุณอาจสนใจ

Related News