ต่างประเทศ

ไต้หวันพบอีก! พัสดุ 'กุนเชียงหมู' จากไทย ปนเปื้อนเชื้อ ASF ครั้งที่ 2 ใน 2 สัปดาห์

โดย passamon_a

8 ม.ค. 2565

1.7K views

วันที่ 7 มกราคม 2565 ไชน่าไทมส์ สื่อท้องถิ่นไต้หวัน รายงานว่า หลังจากเมื่อ 22 ธันวาคม ปีที่แล้ว ไปรษณีย์นครไถหนาน ทางภาคใต้ของไต้หวัน ตรวจพบพัสดุที่บรรจุผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ถูกส่งจากประเทศไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ทำการไปรษณีย์แห่งหนึ่งในไถหนาน ได้ตรวจพบพัสดุที่ส่งจากไทยอีกกล่อง ปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นการตรวจพบ 2 ครั้งซ้อนจากพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากไทย ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ สร้างความวิตกให้กับหน่วยงานท้องถิ่นของไต้หวัน


เมืองไถหนาน ถือเป็นแหล่งผลิตหมูที่ใหญ่อันดับ 4 ในไต้หวัน โดยจากการตรวจสอบฟาร์มสุกรในพื้นที่ พบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความผิดปกติใด ๆ จากความเสี่ยงการระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร


นายเฉินจี๋จ้ง ประธานคณะกรรมการการเกษตรไต้หวัน เปิดเผยว่า เพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่สัปดาห์ ไต้หวันตรวจพบพัสดุเนื้อแปรรูปจากโรงงานผลิตคนละแห่งในประเทศไทย ถูกผ่านพัสดุมายังไต้หวัน ทำให้ไต้หวันต้องเสริมความระมัดระวังและเข้มงวดพัสดุที่ส่งจากไทย และแถบอินโดจีนมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ไต้หวันใช้ช่องทางการแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบเรื่องนี้ และหาวิธีการแก้ไขด้วย


แม้ขณะนี้ ไทยจะยังมิได้มีการรายงานพบสุกรในไทยมีเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร ต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) จึงยังไม่ถูกจัดอยู่ในเขตระบาดของโรคนี้ก็ตาม แต่เนื่องจากไทยมีดินแดนติดกับประเทศในอินโดจีนและประเทศจีน ไต้หวันจึงรวมไทยอยู่ในประเทศเสี่ยงสูง เช่นเดียวกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ เพื่อสกัดการแพร่เชื้อที่ชายแดน ตั้งแต่ปี 2019


ตามกฎของคณะกรรมการการเกษตรไต้หวัน ระบุว่า หากมีการฝ่าฝืนนำเข้าหรือพกพาผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรจากต่างประเทศเข้าไต้หวัน จะมีโทษปรับสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 1.2 ล้านบาท สำหรับประเทศที่จัดอยู่ในเขตระบาดของอหิวาต์แอฟริกาในสุกร รวม 14 ประเทศ ได้แก่ จีน มองโกล เวียดนาม เกาหลีเหนือ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ติมอร์ตะวันออก อินโดนีเซีย อินเดีย ภูฎาน เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย


นางตู้เหวินเจิน อธิบดีกรมตรวจโรคพืชและสัตว์ของไต้หวัน ระบุว่า หลังจากไต้หวันตรวจพบเชื้อ ASF ในพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากไทย ได้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบแล้ว ซึ่งไทยได้ตอบว่าเป็นการนำเข้าเนื้อหมูจากเขตโรคระบาด


ด้าน นายหวงจินเฉิน รองประธานคณะกรรมการการเกษตรไต้หวัน ระบุว่า ไต้หวันได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ฝ่ายไทยทราบอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะให้ฝ่ายไทยเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อาจเป็นปัญหาที่มีอยู่แล้วในไทย เพราะจากประสบการณ์ของหลายประเทศ หากประเทศใดเป็นเขตโรคระบาดไม่อาจนำเข้าเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อหมูเข้าไตหวันได้


ซึ่งตนวิตกว่า หลายประเทศในอาเซียนได้รายงานให้ OIE ทราบแล้วว่าเป็นเขตระบาด มีเพียงไทยประเทศเดียวที่ยังไม่ได้รายงาน เพราะฉะนั้นจึงหวังว่ารัฐบาลไทยจะเร่งตรวจสอบฟาร์มสุกรในไทยทั้งหมด เพื่อหาแหล่งต้นตอของเชื้อ ASF ออกมาให้ได้


ขณะที่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ว่าประเทศไต้หวันมีการตรวจพบกุนเชียงที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ซุกซ่อนในพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวลักลอบนำเข้ามาในประเทศไต้หวัน นั้น


กรมปศุสัตว์ได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเป็นกุนเชียงที่ผลิตมาจากโรงงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผลิตภัณฑ์จากโรงงานนี้เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ได้มาตรฐานและรสชาติที่เป็นที่ยอมรับ


แต่อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้ดำเนินการตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาผลิตกุนเชียง และได้มีการเก็บตัวอย่างในสถานที่ผลิตดังกล่าวเพื่อตรวจหาเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยจากการสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า เนื้อสุกรที่นำมาใช้ผลิตกุนเชียงน่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากยังไม่พบผลทางห้องปฏิบัติการจากการเฝ้าระวังภายในประเทศ


รวมทั้ง ณ ปัจจุบัน ราคาเนื้อสุกรภายในประเทศมีราคาค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตต้องการลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้วัตถุดิบที่มีราคาถูกลง จึงแอบลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาผลิตในประเทศไทย


กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านสุขภาพสัตว์ ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อย่างใกล้ชิด โดยพบว่าทั่วโลกและมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ตามรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE)


สถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในปี พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบัน ยังพบการระบาดของโรคในหลายประเทศ ได้แก่ จีน มีรายงานการพบโรค 20 ครั้ง, ฮ่องกง รายงานการพบโรค 1 ครั้ง, เมียนมา 2 ครั้ง, ฟิลิปปินส์ 155 ครั้ง, เกาหลีใต้ 1,013 ครั้ง, อินเดีย 11 ครั้ง, อินโดนีเชีย 1,008 ครั้ง, เวียดนาม 1,336 ครั้ง, สปป.ลาว 10 ครั้ง ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จะเข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น


กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง ในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าอย่างเข้มงวดในทุกพื้นที่ของประเทศไทย มีการควบคุมการเคลื่อนย้าย ทำการเก็บตัวอย่างเฝ้าระวังเพื่อการวินิจฉัยโรคในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และฟาร์มที่พบสุกรป่วยตายผิดปกติ


ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลเป็นลบต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั้งหมด ซึ่งผลจากการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทำให้ปัจจุบันยังไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรประเทศไทย


ขอให้ประชาชนมั่นใจในว่าการผลิตสินค้าปศุสัตว์ภายในประเทศไทยได้รับการตรวจสอบว่าปลอดภัยต่อการบริโภค และขอความร่วมมือสำหรับฟาร์มเกษตรกรรายย่อย ควรเน้นการปรับระบบการเลี้ยงให้สามารถป้องกันโรคได้ การห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม การฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม การกำจัดซากสุกร การป้องกันสัตว์พาหะต่าง ๆ การห้ามนำเศษอาหารมาเลี้ยงสุกร การฆ่าเชื้อในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ


ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยหรือพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ

คุณอาจสนใจ

Related News