สังคม

โอมิครอนไทยติดแล้ว 514 ราย ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ เชื่อมโยงผัวเมียพุ่ง 151 ราย

โดย thichaphat_d

28 ธ.ค. 2564

24 views

เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค.) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประจำวันที่ 27 ธันวาคม ได้รายงานว่า 


ทางกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ มีการรายงานถึงการติดเชื้อภาพรวมทั้งประเทศจากการเก็บตัวอย่าง 698 ตัวอย่าง 55.4% เป็นสายพันธุ์เดลต้าและ 44.3% สายพันธุ์โอมิครอน


ส่วนกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ จากการเก็บตัวอย่าง 333 ตัวอย่าง พบว่า 56.2% สายพันธุ์โอมิครอน 43.5% สายพันธุ์เดลต้า กลุ่มอื่นๆในประเทศไทย 66.3% สายพันธุ์เดลต้า และ 33.4% สายพันธุ์โอมิครอน


ทำให้ประเทศไทยและหลายประเทศมีมาตรการตอบโต้โอมิครอน โดยแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มที่สาม ซึ่งเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพ ซึ่งหลายงานวิจัยทั่วโลกมีรายงานที่สอดคล้องกัน เช่น การฉีดวัคซีนเข็มที่สามด้วยวัคซีนอัตราเซเนก้า หรือกลุ่มโมเดอร์นา ไฟเซอร์ ในส่วนประเทศไทยยอดผู้ฉีดเข็มสามยังคงน้อยอยู่ จึงขอความร่วมมือในการมีการฉีดวัคซีน


ด้านนายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รจิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสายพันธุ์ โอมิครอนของไทย อยู่ที่ 514 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุมและมีบางส่วนที่หลุดรอดไปยังพื้นที่ต่างๆ


โดยรวมมากกว่าร้อยละ 90 มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน - 26 ธันวาคม พบผู้ติดโอมิครอน ใน 14 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และร้อยละ 20 สัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ


และพบว่าส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อมีอาการไอมากที่สุด ถึงร้อยละ 54  / รองลงมา ได้แก่ เจ็บคอร้อยละ37 และไข้  ร้อยละ29  /อาการได้กลิ่นลดลงเพียง 1 ราย หรือร้อยละ 2  / ยาที่ใช้ในการรักษาจากข้อมูลเท่าที่มีการบันทึก 20  ราย ให้ฟาวิพิราเวียร์ 10 ราย อาการดีขึ้นใน 24-72 ชั่วโมง หลังรับยาและให้จนครบ 5 วัน


ส่วนนายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์อธิบดีกรมการแพทย์  ระบุว่า ข้อมูลจากทั่วโลกตรงกันว่า โอมิครอนมีอาการไม่รุนแรงไปกว่าเดลต้า ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ ไข้ เจ็บคอ ไอแห้ง พบ บางรายมีอาการปอดอักเสบ แต่ไม่มากนัก โดยจะให้การรักษายาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียโดยเร็วภายใน 3 วัน 

ข้อมูลเบื้องต้น อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอน 100 รายแรก ที่พบในประเทศไทย / เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 99 ราย / และติดเชื้อในประเทศ 1 ราย / ระดับความรุนแรงของโรค จะเห็นว่าคนไข้ไม่มีอาการเลยครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งมีอาการไม่มาก


และยังไม่มีรายใดใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต  / แต่มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 7 ราย ในจำนวนนี้ 5 ราย ใช้ออกซิเจนแล้วอาการคงที่ไม่ได้แย่ลง  / ซึ่งทุกรายได้รับวัคซีนโควิด มาแล้ว 2 โดส


ส่วนการเตรียมความพร้อมรักษาสำหรับผู้ป่วยเด็ก ได้มีการสนับสนุน การเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดทำคลิปวีดีโอแนวทางการเตรียมน้ำยาดังกล่าวไว้ โดยจะมีการสนับสนุนยาน้ำฟาวิพาราเวียร์ ในระยะแรก


ประสานจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา เช่น หน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก การจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กติดเชื้อชุมชน ที่ต้องมีผู้ปกครองดูแล โดยในกรุงเทพฯ จะมีการจัดตั้งอย่างน้อยโซนละ 1 แห่ง จัดระบบส่งต่อโรงพยาบาลเมื่อมีอาการรุนแรง เบื้องต้นหากพบผู้ติดเชื้ออาการไม่มาก จะใช้มาตรการรักษาตัวที่บ้านเป็นหลัก


ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจัดรถ BMV ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชนคนไทย และต่างชาติ ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งที่มีหรือและไม่มีเลขพาสปอร์ต โดยเปิดให้บริการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 1 เข็ม 2 และกระตุ้นเข็ม 3 เปิดให้บริการ จำนวนวันละ 1,500 คน ในวันที่ 27 และ 29 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 -16.00 น. ณ ลานจอดรถเดอะมอลล์บางแค (ด้านถนนกาญจนาภิเษก)


เมื่อวานนี้ (27 ธ.ค. 64) เจ้าหน้าที่ บุคลากรด้านสาธารณสุข ประจำท่าอากาศยานนานานาชาติ จังหวัดกระบี่ เข้มงวดตรวจคัดกรอง ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 จาก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับ สายการบินตรงมาจากต่างประเทศ มาลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติ จังหวัดกระบี่ หลังจากก่อนหน้านี้ มีการตรวจพบ ครอบครัว นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 3 คน ที่เดินทาง มากับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ส่งตัวอย่างเชื้อไปตรวจวิเคราะห์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


โดยเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (27 ธ.ค.) นายแพทย์ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุข จ.กระบี่ เปิดแถลงข่าวว่า เบื้องต้นทางจ.กระบี่ ได้รับการให้เปิดนำร่องด้านการท่องเที่ยวโดยเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่เข้ามาจริงตอน 1 ธค.


ซึ่งขณะนี้เดินทางเข้ามาแล้วประมาณ 1,900 คน โดยได้มีการตรวจหาเชื้อทุกราย ซึ่งปรากฏว่ามีจำนวน 11 รายที่ป่วยโควิด และส่งตรวจเชื้อพบว่ามี 3 ราย ที่เป็นสายพันธ์โอมิครอน ซึ่งขณะนี้กำลังรักษาอยู่


ส่วนผู้ที่จะเข้ามาใหม่นั้น ได้มีการลงทะเบียนไว้แล้วที่จะเดินทางเข้ามาในกระบี่อีกประมาณ 1.400 คน ซึ่งกลุ่มนี้จะเข้าสู่ระบบการตรวจตามที่ประกาศใหม่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วยระบบ RT-PCR ทุกรายรวม 2 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะเสียค่าใช้จ่ายแบบไหน ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการระบาด ส่วน นทท.กลุ่มเสี่ยงกว่า 100 คน อยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อตรวจหาเชื้อ


ส่วนการจัดงานเคาท์ดาวน์นั้น ยังคงจัดเช่นเดิม โดยจะเพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นตามมาตรการที่กำหนด ทั้งนี้ขอให้ประชาชน ปฏิบัติตามาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ


ส่วนที่กาฬสินธุ์ ยอดผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกับสองสามีภรรยาที่ไปใช้บริการร้านอาหารกึ่งผับในตลาดโรงสี จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่นั้น


ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้แล้วรวม 151 ราย โดย 66 รายนั้น เป็นโอมิครอน ที่เหลือยังอยู่ระหว่างการตรวจยืนยันสายพันธุ์อย่างเป็นทางการ 


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/e6EWqCD8b2s

คุณอาจสนใจ

Related News