เลือกตั้งและการเมือง

สื่อตั้งฉายา สภาปี 64 'สภาอับปาง' - วาทะแห่งปี 'วัคซีนเต็มแขน' - วุฒิสภา 'ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.)'

โดย passamon_a

26 ธ.ค. 2564

87 views

เป็นประจำทุกปี ของนักข่าวสายทำเนียบ สายสภาฯ จะมีฉายานักการเมือง ตำแหน่งต่าง ๆ ออกมา เพื่อเป็นการสะท้อนการทำงานตลอดปีที่ผ่านมา ล่าสุดฉายา นักการเมือง จากนักข่าวประจำสภา ออกมาเรียบร้อยแล้ว


1. ฉายาสภาผู้แทนราษฎร ได้ฉายาว่า "สภาอับปาง"


เหตุผลคือ : สภาผู้แทนราษฎรเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร และเห็นชอบร่างกฎหมายต่าง ๆ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร แต่พบว่าเรือสภาฯลำนี้ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา กลับประสบปัญหาสภาล่ม จนกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องปกติ ถ้าเปรียบเป็นเรือก็เหมือนเรือที่กำลังอับปาง


แถมไม่คิดที่จะอุดรูรั่วของเรือเพื่อป้องกันปัญหา ต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลง ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เพียงเพราะ ส.ส.บางคนขี้เกียจ ไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเอง บางฝ่ายตายใจในเสียงข้างมาก ขณะที่บางฝ่ายก็เล่นแต่เกมการเมือง สะท้อนถึงการยึดถือประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง


2. ฉายาวุฒิสภา คือ "ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.)"


เหตุผลคือ : ส.ว. ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และถูกมองว่าคอยทำหน้าที่ปกป้องเฝ้ารักษามรดกที่เป็นโครงสร้างและกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญที่ทั้งฝ่ายค้าน และภาคประชาชน พยายามเสนอขอแก้ไข มรดกของ คสช. ทั้งการจะยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การยกเลิกคำสั่งต่าง ๆ ของ คสช. รวมไปถึงการยกเลิกอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ ถูก ส.ว.โหวตคว่ำ ไม่ให้ความเห็นชอบทุกครั้ง เหมือนกับคอยพิทักษ์มรดกของ คสช.ให้อยู่สืบต่อไป


3. ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ "ชวนพลังท่อม"



เหตุผลมาจากการติดตามการทำงานของ นายชวน หลีกภัย ทั้งการนั่งเป็นประธานบนบัลลังก์ในการประชุมสภาฯ และการประชุมรัฐสภา ที่สามารถนั่งควบคุมการประชุมได้อย่างยาวนาน มีความคล่องแคล่ว เสร็จจากงานประธาน ก็มีภารกิจอื่น ๆ อีกมากมาย และยังใช้เวลาว่างขึ้นเหนือล่องใต้เยี่ยมเยือนประชาชนทั่วประเทศอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ราวกับคนที่เคี้ยวใบกระท่อม และมีเรี่ยวแรง อึด ถึก ทนมากเป็นพิเศษ ทั้งมีอายุมากถึง 83 ปีแล้ว


4. ฉายา ประธานวุฒิสภา คือ "ร่างทรง"


เหตุผลเพราะ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำงานให้ คสช.มายาวนาน ตั้งแต่สมัย คสช.เรืองอำนาจ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ คสช. กลายร่างมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นายพรเพชรก็ยังได้รับความไว้วางใจต่อเนื่องให้เป็นประธานวุฒิสภา เพื่อเป็นหัวขบวนของสมาชิกวุฒิสภา คอยช่วยเหลือสนับสนุนภารกิจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


แต่บทบาทของนายพรเพชร ในฐานะประธานวุฒิสภา ไม่มีความโดดเด่น ทั้งที่เป็นถึงประมุขสภาสูง และยังถูกมองว่า คอยสนองความต้องการของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ตำแหน่งประมุขสภาสูงของนายพรเพชร จึงเป็นเพียงหัวโขนทางการเมือง แต่ไม่มีอำนาจแท้จริง ไม่ต่างจากร่างทรงที่ถูกฝ่ายกุมอำนาจกุมบังเหียน ต้องคอยช่วยคอนโทรลให้การทำงานของวุฒิสภาเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล


5. ฉายาผู้นำฝ่ายค้าน (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ) คือ "สมพงษ์ตกสวรรค์"


แม้ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ตาม แต่ นพ.ชลน่าน เพิ่งเข้ามา สื่อสภาจึงขอตั้งฉายาให้กับนายสมพงษ์ไปก่อน ด้วยความที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านอย่างไร้บทบาท ไม่โดดเด่น มิหนำซ้ำและใช้พูด ๆ ถูก ๆ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อยู่บ่อยครั้ง กระทั่งมีการประชุมใหญ่สามัญพรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เท่ากับหลุดจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯโดยปริยาย จึงเปรียบได้ว่าเป็น สมพงษ์ตกสวรรค์


6. ดาวเด่นแห่งปี ได้แก่ "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย


นพ.ชลน่าน มีบทบาทในวิปฝ่ายค้านมานาน แต่กลับพลาดตำแหน่งสำคัญ ๆ และโด่ดเด่นในสภาตลอดมา การอภิปรายสภาแต่ละครั้งมีหลักการและเหตุผล สามารถแนวโน้มใจให้ ส.ส.เห็นด้วยกับสิ่งที่อภิปราย โดยไม่มีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย สุดท้ายผลงานเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย จนได้รับการผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรค และขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ


7. ดาวดับ ได้แก่ "นายวิรัช รัตนเศรษฐ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตประธานวิปรัฐบาล



ปรากฎว่าบทบาทของนายวิรัช ในฐานะประธานวิปรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา การควบคุม ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธภาพ หลายครั้งเกิดเหตุความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน อีกทั้งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากคดีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา สมัยที่นายวิรัชยังเป็น ส.ส. สังกัดพรรคเพื่อไทย จากเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้กลายเป็นดาวดับ ไปในพริบตา


8. เหตุการณ์เด่นแห่งปี คือ "แผนกบฎการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี"


ถ้าจำกันได้ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 6 รัฐมนตรี แต่ไฮไลท์กลับอยู่ที่นอกห้องประชุม เมื่อมีรายงานข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยนั้นยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินสายล็อบบี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ให้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความลับนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน กลายเป็นข่าวใหญ่โต ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ลูกพรรคเดินเกมล็อบบี้ ส.ส.ในพรรคของตัวเอง เพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรี


เหตุการณ์นี้นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างนายกฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส นายกฯ มอง ร.อ.ธรรมนัส เป็นอากาศธาตุ อีกทั้งหลังเหตุการณ์นั้นไม่นาน มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาปลด ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ จนถึงทุกวันนี้ความรู้สึกกินแหนงแคลงใจก็ยังคงอยู่


9. วาทะแห่งปี : "วัคซีนเต็มแขน"


ซึ่งเป็นคำชี้แจงของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับวัคซีน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ว่า "ไตรมาส 3 วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย อยู่เต็มโรงพยาบาลแล้วครับ อยู่เต็มแขนของพี่น้องประชาชนคนไทยแล้ว" ภายหลังจากที่ชี้แจงในสภาได้กลายเป็นไวรัลในสังคมที่คุยว่าจะมีวัคซีนเต็มแขน แต่สุดท้ายวัคซีนไม่มาตามนัด เกิดการขาดแคลนวัคซีน ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนขวนขวายหาวัคซีนกันเอง จนกระทั่งช่วงปลายปีวัคซีนจึงเริ่มเข้ามาตามกำหนด และถึงแม้รัฐบาลจะหาวัคซีนได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ก็ยังล่าช้า เพราะยังมีประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน


10. คู่กัดแห่งปี ได้แก่ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล



ในเวลาที่มีการประชุมรัฐสภาร่วมกัน ทั้งสองคนนี้มักโต้เถียงกันบ่อยครั้งและมีแนวโน้มจะไม่เลิกใช้คำพูดที่รุนแรง อย่างเช่นกลางดึกของวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรีโซลูชั่น ต่างฝ่ายต่างไม่ลดละและท้าทายกัน โดยนายเสรี กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "โลงศพเขาไม่ได้ใส่คนแก่ แต่โลงศพเอาไว้ใส่คนตาย และคนตายบางทีอายุน้อยก็ตายได้"


ทำให้นายวิโรจน์ สวนว่า "ที่บอกว่าโลงศพเอาไว้ใส่คนตาย ผมว่าไม่เกี่ยวเลย ผมขอแก้ว่าโลงศพเอาไว้ใส่คนปากอย่างท่าน" และนายเสรี โต้กลับอีกครั้งว่า "พอดีคุณวิโรจน์ปากเหมือนผม" ฉะนั้นเหตุการณ์นี้ถือว่าเลยเถิดเกินความสมควร


11. ส่วนตำแหน่ง "คนดีศรีสภา" ยังคงถูกยกเลิกถาวร


เป็นเวลาหลายปีแล้วท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่จะเป็นแบบตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นสื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรยกเลิกตำแหน่งนี้เป็นการถาวร จนกว่าในอนาคตจะมีสมาชิกรัฐสภาที่มีความประพฤติที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวต่อไป



รับชมทางยูทูบที่ :  https://youtu.be/UO3UsgKcwTo

คุณอาจสนใจ

Related News