เลือกตั้งและการเมือง

สื่อสภา ตั้ง ฉายา ส.ส. ประจำปี 2564

โดย sujira_s

26 ธ.ค. 2564

344 views

เป็นประจำทุกปี ของนักข่าว สายทำเนียบ สายสภาฯ จะมีฉายานักการเมือง ตำแหน่งต่างๆ ออกมา เพื่อเป็นการสะท้อนการทำงานตลอดปีที่ผ่านมา ล่าสุดฉายา นักการเมือง จากนักข่าวประจำสภา ออกมาเรียบร้อยแล้ว


1.ฉายาสภาผู้แทนราษฎร  ได้ฉายาว่า “สภาอัปปาง”




เหตุผลคือ : สภาผู้แทนราษฎรเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร และเห็นชอบร่างกฎหมายต่างๆ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร


แต่พบว่าเรือสภาฯ ลำนี้ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา กลับประสบปัญหาสภาล่มจนกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องปกติ ถ้าเปรียบเป็นเรือก็เหมือนเรือที่กำลังอับปาง


แถมไม่คิดที่จะอุดรูรั่วของเรือเพื่อป้องกันปัญหา ต่างๆต้องหยุดชะงักลง ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เพียงเพราะ ส.ส.บางคนขี้เกียจ ไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเอง



บางฝ่ายตายใจในเสียงข้างมาก ขณะที่บางฝ่ายก็เล่นแต่เกมการเมือง สะท้อนถึงการยึดถือประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง


2.ฉายาวุฒิสภา  คือ “ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.)”





เหตุผลคือ ส.ว. ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และถูกมองว่าคอยทำหน้าที่ปกป้องเฝ้ารักษามรดก ที่เป็นโครงสร้างและกลไกสืบทอดอำนาจของคสช. โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญที่ทั้งฝ่ายค้าน และภาคประชาชนพยายามเสนอขอแก้ไข มรดกของ คสช. ทั้งการจะยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การยกเลิกคำสั่งต่างๆ ของคสช. รวมไปถึง การยกเลิกอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี  แต่ ถูกส.ว.โหวตคว่ำ ไม่ให้ความเห็นชอบทุกครั้ง เหมือนกับคอยพิทักษ์มรดกของ คสช.ให้อยู่สืบต่อไป


3. ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร  คือ “ชวนพลังท่อม”




เหตุผลมาจากการติดตามการทำงานของ “นายชวน หลีกภัย” ทั้งการนั่งเป็นประธานบนบัลลังก์ในการประชุมสภาฯ และการประชุมรัฐสภา ที่สามารถนั่งควบคุมการประชุมได้อย่างยาวนาน  มีความคล่องแคล่ว เสร็จจากงานประธาน ก็มีภารกิจอื่นๆ อีกมากมาย และยังใช้เวลาว่างขึ้นเหนือล่องใต้ เยี่ยมเยือนประชาชนทั่วประเทศอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ราวกับคนที่เคี้ยวใบกระท่อม และมีเรี่ยวแรง อึด ถึก ทนมากเป็นพิเศษ ทั้งมีอายุมากถึง 83 ปีแล้ว


4.ฉายา ประธานวุฒิสภา  คือ “ร่างทรง”



เหตุผล เพราะ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำงานให้คสช.มายาวนาน ตั้งแต่สมัยคสช.เรืองอำนาจ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จนมาถึงยุคปัจจุบันที่คสช. กลายร่างมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นายพรเพชรก็ยังได้รับความไว้วางใจต่อเนื่องให้เป็นประธานวุฒิสภา เพื่อเป็นหัวขบวนของสมาชิกวุฒิสภาคอยช่วยเหลือสนับสนุนภารกิจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


แต่บทบาทของนายพรเพชร ในฐานะประธานวุฒิสภา ไม่มีความโดดเด่น ทั้งที่เป็นถึงประมุขสภาสูง และยังถูกมองว่า คอยสนองความต้องการของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ตำแหน่งประมุขสภาสูงของนายพรเพชร จึงเป็นเพียงหัวโขนทางการเมือง แต่ไม่มีอำนาจแท้จริง ไม่ต่างจากร่างทรงที่ถูกฝ่ายกุมอำนาจกุมบังเหียน ต้องคอยช่วยคอนโทรลให้การทำงานของวุฒิสภาเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล


5.ฉายาผู้นำฝ่ายค้าน (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ )  คือ “สมพงษ์ตกสวรรค์”





แม้ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ตาม แต่ นพ.ชลน่าน เพิ่งเข้ามา สื่อสภาจึงขอตั้งฉายาให้กับนายสมพงษ์ไปก่อน


ด้วยความที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านอย่างไร้บทบาท ไม่โดดเด่น มิหนำซ้ำและใช้พูดๆ ถูกๆ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อยู่บ่อยครั้ง กระทั่งมีการประชุมใหญ่สามัญพรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เท่ากับหลุดจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ โดยปริยาย จึงเปรียบได้ว่าเป็น “สมพงษ์ตกสวรรค์”


6.ดาวเด่นแห่งปี ได้แก่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย




นพ.ชลน่าน มีบทบาทในวิปฝ่ายค้านมานาน แต่กลับพลาดตำแหน่งสำคัญๆ และโด่ดเด่นในสภาตลอดมา การอภิปรายสภาแต่ละครั้งมีหลักการและเหตุผล สามารถแนวโน้มใจให้ส.ส.เห็นด้วยกับสิ่งที่อภิปราย โดยไม่มีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย สุดท้ายผลงานเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย จนได้รับการผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรค และขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ


7.ดาวดับ  ได้แก่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ




และอดีตประธานวิปรัฐบาล แต่ปรากฎว่าบทบาทของนายวิรัช ในฐานะประธานวิปรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา การควบคุมส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐ และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธภาพ หลายครั้งเกิดเหตุความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน


อีกทั้งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา สมัยที่นายวิรัชยังเป็น ส.ส. สังกัดพรรคเพื่อไทย จากเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้กลายเป็น “ดาวดับ” ไปในพริบตา



8.เหตุการณ์เด่นแห่งปี คือ “แผนกบฎการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี”



ถ้าจำกันได้ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 6 รัฐมนตรี แต่ไฮไลท์กลับอยู่ที่นอกห้องประชุม เมื่อมีรายงานข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยนั้นยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินสายล็อบบี้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ให้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความลับนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน กลายเป็นข่าวใหญ่โต ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ลูกพรรคเดินเกมล็อบบี้ส.ส.ในพรรคของตัวเอง เพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรี


เหตุการณ์นี้นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างนายกฯกับร.อ.ธรรมนัส นายกฯ มอง ร.อ.ธรรมนัส เป็นอากาศธาตุ อีกทั้งหลังเหตุการณ์นั้น ไม่นานมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาปลดร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ จนถึงทุกวันนี้ความรู้สึกกินแหนงแคลงใจก็ยังคงอยู่


9. วาทะแห่งปี : “วัคซีนเต็มแขน”  



ซึ่งเป็นคำชี้แจงของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับวัคซีน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี2564 ว่า "ไตรมาส 3 วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย อยู่เต็มโรงพยาบาลแล้วครับ อยู่เต็มแขนของพี่น้องประชาชนคนไทยแล้ว"


ภายหลังจากที่ชี้แจงในสภาได้กลายเป็นไวรัลในสังคม ที่คุยว่าจะมีวัคซีนเต็มแขน แต่สุดท้ายวัคซีนไม่มาตามนัด เกิดการขาดแคลนวัคซีน ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนขวนขวายหาวัคซีนกันเอง จนกระทั่งช่วงปลายปีวัคซีนจึงเริ่มเข้ามาตามกำหนด และถึงแม้รัฐบาลจะหาวัคฉีนได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ก็ยังล้าช้า เพราะยังมีประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน


10.คู่กัดแห่งปี  ได้แก่ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  




ในเวลาที่มีการประชุมรัฐสภาร่วมกัน ทั้งสองคนนี้มักโต้เถียงกันบ่อยครั้งและมีแนวโน้มจะไม่เลิกใช้คำพูดที่รุนแรง อย่างเช่นกลางดึกของวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรีโซลูชั่น ต่างฝ่ายต่างไม่ลดละและท้าทายกัน


โดยนายเสรี กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “โลงศพเขาไม่ได้ใส่คนแก่ แต่โลงศพเอาไว้ใส่คนตาย และคนตายบางทีอายุน้อยก็ตายได้” ทำให้นายวิโรจน์ สวนว่า “ที่บอกว่าโลงศพเอาไว้ใส่คนตาย ผมว่าไม่เกี่ยวเลย ผมขอแก้ว่าโลงศพเอาไว้ใส่คนปากอย่างท่าน” และนายเสรีโต้กลับอีกครั้งว่า “พอดีคุณวิโรจน์ปากเหมือนผม” ฉะนั้น เหตุการณ์นี้ถือว่าเลยเถิดเกินความสมควร


11. ส่วนตำแหน่ง “คนดีศรีสภา“




ยังคงถูกยกเลิกถาวรเป็นเวลาหลายปีแล้ว ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ปรากฎว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่จะเป็นแบบตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรยกเลิกตำแหน่งนี้เป็นการถาวร จนกว่าในอนาคตจะมีสมาชิกรัฐสภาที่มีความประพฤติที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ฉายาส.ส. ,สื่อสภา

คุณอาจสนใจ