สังคม

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบฉีดเข็ม 4 ให้บุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ

โดย panisa_p

24 ธ.ค. 2564

235 views

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าที่ประชุมเห็นชอบและนำคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในการฉัดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก 5-11 ปี โดยให้เป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คือวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งตอนนี้เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ อย.อนุญาตให้ฉีดในเด็กเล็กได้



ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบประมาณแผนการจัดซื้อวัคซีนกระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งทางบริษัทไฟเซอร์มีแผนที่จะส่งวัคซีนให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะสูตรที่ฉีดในเด็ก 5-11 ปีจำนวน 10 ล้านโดส ซึ่งจะมีการเร่งประสานการจัดส่งให้ได้เร็วที่สุด ทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติให้การฉีดวัคซีนในเด็ก 5-11 ปี เป็นไปตามความสมัครใจ โดยการฉีดวัคซีนให้ใช้ระบบเดิมที่ฉีดในเด็กโต12-18 ปี ซึ่งใช้สถานศึกษาเป็นสถานที่ฉีด รวมถึงจะเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนที่สถานพยาบาลด้วย โดยมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมเนื่องจากเป็นการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ดี ซึ่งผู้ปกครองต้องแสดงความประสงค์สมัครใจที่จะให้บุตรหลานฉีดวัคซีนโควิด



ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กุมารแพทย์ นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ทั้ง 2 หน่วยงานที่กำกับดูแลในการรักษาเด็กมีความเห็นว่าไม่ควรจะเร่งฉีดวัคซีนจนเกินไป ควรให้โอกาสให้เวลาให้ผู้ปกครองได้ทำความเข้าใจถึงข้อดีข้อเสีย ก่อนดำเนินการฉีดวัคซีน ซึ่งสอดคล้อง กับการประสานกระทรวงศึกษาธิการ  ถึงจำนวนเด็กที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  เบื้องต้นมีประมาณ 5 ล้าน 4 หมื่นคน



และมติเห็นชอบการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็ม4 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า รวมทั้งประชาชนที่เป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่นผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะจึงต้องกินยากดภูมิคุ้มกันกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ไม่ดีไม่เหมือนคนทั่วไป ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบ่อยกว่าคนทั่วไป โดยในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเกิน 3 เดือน เพื่อที่จะให้มีภูมิคุ้มกันต่อเนื่องต่อสายพันธุ์โอมิครอน ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 4 โดยสูตรที่ฉีด คนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม เข็ม 3 เป็นแอสตร้าเซนาก้า หากจะฉีดเข็มที่ 4 ก็จะเป็นแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ก็ได้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามความสมัครใจ



ทั้งนี้หากบุคลากรทางการแพทย์ท่านใดประสงค์ที่จะฉีดวัคซีนด้วยรูปแบบใต้ผิวหนัง หรือจะฉีดปริมาณครึ่งโดส ก็ให้เป็นความยินยอม แต่ในข้อปฏิบัติจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดแบบปกติ คือเต็มโดส และการพิจารณาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โดยทางกรุงเทพฯเสนอให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.มีบทบาทหน้าที่ที่จะดูแลควบคุมโรคในพื้นที่ จะทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  ซึ่งจะได้นำเรียนต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาต่อไป



ขณะที่ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ อาการผู้ติดเชื้อโอมิครอนในไทยกว่า 205 ราย  ส่วนใหญ่อาการน้อยมาก รักษาเหมือนโควิดทั่วไป แนวทางการรักษาตอนนี้ใช้แผนเดียวกับการรักษาโควิด -19 สายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา โดยผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศ ยังคงมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางกลับจากต่างประเทศ ส่วนอาการ ปวดหัว เจ็บคอ มีน้ำมูก  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน ถือเป็นอาการปกติของโควิด-19 อยู่แล้ว





กรณีการแพร่ระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์กาฬสินธุ์และอุดรธานี ที่พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน จากผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเข้าพื้นที่ แล้วแพร่ไปสู่กลุ่มเสี่ยงสูง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างหนึ่งที่เข้ามาในประเทศไทย ถึงแม้ผลเป็นลบในครั้งแรก แต่ต้องมีการเฝ้าระวังสังเกตอาการอย่างเคร่งครัดในช่วงเวลา 5 - 7 วัน และตรวจเชื้อซ้ำหากมีอาการเข้าข่ายสงสัย เน้นย้ำ หากจะต้องมีการเดินทางไปยังสถานที่อื่น หรือพบปะผู้คนควรตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจนเทสคิด



สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการรับเชื้อหลักๆคือ รับประทานอาหารร่วมกัน อยู่ในห้องถ่ายเทไม่สะดวก พบปะพูดคุยเป็นระยะเวลานาน เน้นย้ำให้แต่ละจังหวัด ติดตามกลุ่มที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้าพื้นที่ และหากพบรายที่มีอาการน่าสงสัยให้ตรวจสอบทันที และทำการสอบสวนโรค



ทั้งนี้ จากข้อมูลกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยกว่า 2 แสนคน จะพบอัตราการติดเชื้อประมาณ 200 คน ถือว่ายังอยู่ในความปลอดภัย

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ