สังคม

สตง.ตรวจ รง.แปรรูปยางพาราบึงกาฬ งบก่อสร้าง 200 ล้านบาท ชี้ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์

โดย pattraporn_a

12 ก.ย. 2564

38 views

สตง.ภาค 6 ตรวจสอบโรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ ใช้งบก่อสร้างเกือบ 200 ล้านบาท แต่ใช้งานไม่ได้ ทั้งที่เป็นโครงการต้นแบบของกลุ่มจังหวัด หวั่นกลายเป็นโครงการสร้างแล้วทิ้ง


กรณีกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน ใช้งบประมาณกลุ่ม กว่า 243 ล้านบาท ทำโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัติกรรมการแปรรูปการผลิตยางพารา ซึ่งในโครงการนี้ ยังจัดสรรเงิน 193 ล้านสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา ที่จังหวัดบึงกาฬ แต่โรงงานเดินหน้าต่อไม่ได้


โรงงานแปรรูปยางพารา 8 หลัง ตั้งอยู่ที่อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ สร้างด้วยงบ 193 ล้านบาท ที่จัดสรรจากกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน ให้เป็น 1 ใน 6 ของกิจกรรมย่อย ในโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการแปรรูปการผลิตยางพารา งบประมาณรวม 243,895,600 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2560


ขณะที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6 ซึ่งตรวจโครงการนี้เช่นกัน ก็ออกรายงานผลการตรวจสัมฤทธิ์ผลของโครงการนี้ ทั้งระบบที่สร้างด้วยงบประมาณกว่า 243 ล้าน ใน 6 กิจกรรมย่อย โดยโรงงานแปรรูปยางพาราที่บึงกาฬ เป็น 1 ใน 6 กิจกรรมย่อยดังกล่าวพบว่า เป็นโครงการที่ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์


ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า แบบแปลนโรงงานไม่สอดคล้องกับพื้นที่ ทำให้โรงงานล่าช้ากว่ากำหนด เช่นโรงงาน 5 หลังแรก ออกแบบแปลนกำหนดฐานอาคารเป็นชนิดฐานแผ่ แต่ภูมิประเทศจริงต้องตอกเสาเข็ม จึงจะมั่นคง เมื่อแก้ไขแบบจึงล่าช้า  โรงงานยางแผ่นรมควันอีก 3 หลังที่เพิ่งสร้างเสร็จ ก่อนหน้านี้พบว่า ขนาดแบบแปลน 3 หลังไม่เท่ากัน ขัดแย้งกับใบแจ้งปริมาณงาน


และยังพบว่าโรงงานไม่มีระบบไฟฟ้าโรงงาน, ระบบน้ำใช้โรงงานและไฟฟ้าโรงงาน ส่วนแหล่งน้ำใช้โรงงาน เคยเจาะบ่อบาดาล 2 บ่อ แต่ไม่พบแหล่งน้ำที่จะใช้ในโรงงาน 


นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าโครงการสร้างบนที่ดิน นิติบุคคลอื่น คือชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางฯบึงกาฬ ที่ติดภาระจำนอง เมื่อรวมปัญหาเหล่านี้กับปัญหาการบริหารทรัพย์สินไม่เป็นไปตามระเบียบราชการ จึงทำให้โครงการไม่สัมฤทธิ์ผล


รายงานผลตรวจของ สตง.ถูกส่งให้หัวหน้ากลุ่มจังหวัดของโครงการนี้แล้ว เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข และเป็นที่รับทราบในกลุ่มจังหวัดดังกล่าว แต่การตรวจสอบนี้ไม่ได้ครอบคลุมประเด็นว่ามีการทุจริตที่ทำให้โครงการไม่สัมฤทธิ์ผลหรือไม่ แต่ สตง.เสนอให้หางบประมาณเพิ่ม และหาผู้เชี่ยวชาญผลักดันโครงการ ให้คุ้มค่าเงินภาษี


ขณะที่ ข่าว 3 มิติ พบอุปสรรคสำคัญคือไม่มีหน่วยงานใดแสดงตัวแน่ชัดเป็นเจ้าของ เพราะเดิมที โรงงานจากเงินกลุ่มจังหวัด หวังสร้างใหชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางบึงกาฬใช้ โดยทรัพย์สินขึ้นทะเบียนกับกรมธนารักษ์แล้ว แต่ชุมนุมสหกรณ์ที่เช่าใช้ ก็ถูกนายทะเบียนนสั่งปิด ส่วนโรงงานต่อให้มีผู้เช่ารายอื่นมาใช้ ก็เผชิญปัญหาเดีวกันคือระบบโรงงานไม่สมบูรณ์


ดังนั้น ปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ไข ในขณะที่โรงงาน, เครื่องมือ, เครื่องจักร ที่สร้างและซื้อมาแล้วไม่ถูกใช้ ไม่ถูกรักษา จึงไม่ต่างจากรอเวลาเสื่อมสภาพเท่านั้



คุณอาจสนใจ