สังคม

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงติดตามโครงการพัฒนาที่ดิน มูลนิธิชัยพัฒนาบ้านกุงศรี อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

โดย kodchaporn_j

6 ส.ค. 2564

23 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดิน มูลนิธิชัยพัฒนาบ้านกุงศรี อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์


วันนี้เวลา 13.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดิน มูลนิธิชัยพัฒนาบ้านกุงศรี ตำบลนาเพียง อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์


ซึ่งเป็นโครงการที่มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาพื้นที่ 18 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา ที่นางสาวโชติรส ประสาร ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เป็นรูปแบบการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


โดยเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 มีการปรับปรุงพื้นที่ สร้างถนน สร้างอาคาร ติดตั้งระบบสาธารณูปโภค และดำเนินการปลูกป่าเพิ่มเติมใน 2 ลักษณะ ตามสภาพพื้นที่ดั้งเดิม คือบริเวณที่เป็นพื้นที่โล่งกว้าง ส่วนอีกฝั่งหนึ่งยังคงหลงเหลือไม้ยืนต้น จึงได้ปลูกป่าในบริเวณพื้นที่โล่งกว้าง จำนวน 1,850 ต้น อาทิ ยางนา ประดู่ มะค่า พะยูง รวมทั้งไม้กินได้ และพืชสมุนไพร ระหว่างร่องกลางจัดทำเป็นโรงเรือนชั่วคราว


เพื่อเก็บพันธุ์ไม้ที่ขยายพันธุ์ไว้แจกจ่ายผู้ที่เข้าร่วมโครงการและผู้ที่สนใจ ส่วนพื้นที่ที่ยังคงมีไม้ยืนต้นเดิม ได้นำต้นไม้ใหม่เข้าปลูกสลับกับไม้ดั้งเดิม แซมด้วยพืชสมุนไพร และปลูกไม้ล้อมในพื้นที่โครงการ ซึ่งเริ่มขยายผลสู่เกษตรกร ในปี 2563 โดยในปี 2564 ได้ขยายผลให้กับโรงเรียน วัด และเกษตรกร รวมมีสมาชิก 33 ราย โดยได้ทำการเพาะชำกล้าไม้ อาทิ ยางนา ชิงชัน พะยูง ประดู่ มะค่า แจกจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ


นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร สำรวจคุณภาพดิน และปรับปรุงบำรุงดิน , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร สำรวจพันธุ์ไม้พื้นถิ่น ภายในบริเวณโครงการ พบพันธุ์ไม้เดิมในพื้นที่ทั้งหมด 49 ชนิด มีการรวบรวมข้อมูลพันธุ์พืช นำเสนอผ่านระบบ QR CODE และจัดทำพิกัดดาวเทียม ตำแหน่งพันธุ์ไม้ เพื่อสะดวกต่อการสืบค้นข้อมูลในระบบออน์ไลน์


รวมทั้งจัดทำ “สวนสมุนไพรไทโส้” รวบรวมพืชสมุนไพร ที่ใช้เป็นตำรับยารักษาโรค รวม 34 ชนิด มาปลูกในโครงการ อาทิ “ว่านสาวหลง” สายพันธุ์ภูพาน พืชสมุนไพรประจำถิ่น ซึ่งได้ยกระดับและพัฒนา ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสมุนไพรว่านสาวหลง เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบอาหาร เครื่องดื่ม และเวชสำอาง อาทิ น้ำหอม สบู่ แชมพูสระผม และชาชงว่านสาวหลง


นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่เกิดจากการสร้างป่า โดยใช้ต้นแบบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มป่าครอบครัวต้นผึ้ง อำเภอพังโคน จัดทำภาชนะจากใบไม้ ซึ่งได้แนวคิดมาจากการนำเอาใบไม้ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติในท้องถิ่น นำมาทำเป็นภาชนะใส่อาหารที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น จานใบไม้ ถ้วยจากใบตอง และกาบไผ่รวมถึงใบไม้ชนิดอื่น ๆ ที่มีในธรรมชาติ


ขณะที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสกลนคร ส่งเสริมระบบวนเกษตรภายใต้นโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกษตรกรรมยั่งยืน 5 รูปแบบ ประกอบด้วย เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมธรรมชาติ และวนเกษตร เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแปลงเกษตร พร้อมจัดอบรม ให้ความรู้แก่เกษตรกร เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มพื้นที่ป่า ในแปลงเกษตรกรรมพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินตำบลนาเพียง ตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 300 ราย พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่


ส่วนศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ส่งเสริมขยายผลพัฒนาอาชีพเกษตรกร สนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และการจัดทำแผนการดำเนินงานระยะยาว เพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่อเนื่องให้แก่เกษตรกร พัฒนาเกษตรกรต้นแบบ สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนต่อไป นอกจากนี้ภายในโครงการ ได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์รวมใจไทโส้ ที่รวบรวมข้อมูลของชนเผ่าไทโส้ ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าในพื้นที่อำเภอกุสุมาลย์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชน


ในการนี้ได้ทอดพระเนตรการแสดงรำโส้ทั่งบั้ง เป็นการแสดงถึงประเพณีของชาวไทโส้ เพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือน เดิมจะใช้กระบอกไม้ไผ่มากระแทกลงกับพื้น เพื่อให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะ ต่อมาจึงได้คิดท่ารำให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น


โอกาสนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎร กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายของโครงการฯ โดยทรงขอให้ช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมืองชาวไทโส้ไว้ให้ดี

คุณอาจสนใจ