สังคม

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ แจงออกหลักเกณฑ์ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ชี้ผู้ป่วยโควิดสีแดงล้น

โดย panwilai_c

23 ก.ค. 2564

63 views

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชี้แจงกรณีประกาศหลักเกณฑ์ พิจารณาการไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยโควิด-19 หลังเมื่อวานนี้มีเอกสารเผยแพร่เอกสารดังกล่าวจนสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชน โดยยืนยันเป็นแค่แนวทางที่ใช้ในกลุ่มโรคบางประเภทในระยะสุดท้าย แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะทำให้ห้องไอซียูที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่อธิบดีกรมการแพทย์ระบุขณะนี้จำนวนผู้ป่วยสีแดงเข้าเกณฑ์วิกฤต หลังช่วง 1 สัปดาห์มานี้ มีจำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มจนล้นจำนวนเตียงไอซียูที่มีเกือบ 3 เท่า


ประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีเนื้อหาระบุแนวทางการจัดผู้ป่วยวิกฤต ให้เข้ารับการดูแลรักษาในระบบ Palliative care หรือ ระบบดูแลแบบประคับประคอง เพื่อแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ร่วมกัน


เนื้อหาในส่วนนี้ได้ระบุเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้ป่วยมีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า ด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือให้ครอบครัวตัดสินใจแทนว่าไม่ประสงค์ใส่ท่อช่วยหายใจ และกรณีที่ 2 ผู้ป่วยไม่ได้มีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า แพทย์ผู้ดูแลพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อมีผู้ป่วยมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อจาก 4 ข้อ คือ อายุมากกว่า 75 ปี / ระดับความรุนแรงของโรคเรื้อรัง ตามดัชนีโรคร่วมชาร์ลสัน / ความสามารถในการดูแลตัวเองต่อจากนี้ / และเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ ไม่ตอบสนองต่อการรักษา


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อธิบายว่า เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อแนวทางการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยโควิด-19 เหมือนกับหลักเกณฑ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ไม่มีการเร่งหรือยื้อให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันทรัพยากรห้องไอซียูและหอผู้ป่วยวิกฤตมีอย่างจำกัด โดยเฉพาะจำนวนของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ


สถานการณ์ที่โรงพยาลธรรมศาสตร์กำลังเผชิญในขณะนี้ คือ จำนวนผู้ป่วยที่ล้นจนต้องปฏิเสธการรักษาในบางส่วน เนื่องจากเตียงไอซียูและห้องความดันลบที่มี ราว 70 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้วทั้งหมด โดยมีคนไข้อาการหนักรวม 91 คน ซึ่งยังไม่รวมโรงพยาบาลสนามอีก 400 เตียง


สอดคล้องกับข้อมูลนายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ที่เปิดเผยกับข่าว 3 มิติ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยวิกฤต คิดเป็นสัดส่วน 3-5% ของผู้ป่วยทั้งหมด


หากพิจารณาเฉพาะในพื้นที่การระบาดหนักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีผู้ป่วยรวมกันเฉลี่ย 4,000-5,000 คน ต่อวัน เท่ากับมีผู้ป่วยหนักเตียงสีแดงราว 150 คนต่อวัน ส่วนใหญ่รักษาตัว 20 วัน ขณะที่ในพื้นที่มีเตียงผู้ป่วยวิกฤตเพียง 1,400 เตียง หากสะสมต่อเนื่องเกิน 1 เดือน ก็เท่ากับว่าจะมีผู้ป่วยวิกฤตมากกว่าจำนวนเตียงถึง 3 เท่า โดยกรมการแพทย์ยืนยันยึดมั่นในหลักการการรักษาผู้ป่วยทุกคนโดยดีที่สุดตามหลักการแพทย์


ปัจจุบันมีการเพิ่มจำนวนเตียงวิกฤตจาก 600 เตียง มาเป็น 1,400 เตียง ซึ่งมีแผนที่จะขยายอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาหลักในขณะนี้คือจำนวนผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่เพิ่มขึ้น แม้จะขยายเตียงและอุปกรณ์ได้ แต่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ก็มีอย่างจำกัด


อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นแนวทางหนึ่งที่มีการระบุไว้ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติปี 2550 ซึ่งปัจจุบันหลายโรงพยาบาลเริ่มนำหลักเกณฑ์นี้มาปรับใช้บริหารจัดการควบคู่กับวิกฤตจำนวนผู้ป่วยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คุณอาจสนใจ