สังคม

ร้านอาหาร ขอ ศบค.ทบทวนคำสั่งห้ามนั่งในร้าน และสื่อสารมาตรการเยียวยาให้ชัด!

โดย pattraporn_a

28 มิ.ย. 2564

202 views

มาตรการเยียวยา ลูกจ้างและนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งที่ 25 ในพื้นที่ควบคุม 6 จังหวัด นอกจากแคมป์ก่อสร้างแล้ว เป็นครั้งแรกที่จะมีการเยียวยาให้ผู้ประกอบการร้านอาหารด้วย โดยรัฐจะช่วยเพิ่มจากเงินประกันสังคมด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการพอใจขึ้นบ้าง จากที่รู้สึกช็อคกับคำสั่งที่ออกมากระทันหัน ทำให้ร้านอาหารไม่ได้ตั้งตัว และมีผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาตลอด 1 ปี แต่เห็นว่ายังไม่เพียงพอ จึงเรียกร้องให้ ศบค.ยกเลิกคำสั่งห้ามนั่งทานในร้าน และเพิ่มการเยียวยาทั้งการเข้าถึงแหล่งทุนและวัคซีน 


โดย ร้านช็อคโกแลตวิลล์ ร้านอาหารชื่อดังที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและต่างชาติ ปิดให้บริการอีกครั้งในวันนี้ ตามคำสั่งล่าสุดของ ศบค.หลังจากเปิดร้านได้เพียง 7 วัน เจ้าของร้าน ยอมรับว่า รู้สึกตกใจกับคำสั่งที่ออกมาผ่านราชกิจจานุเบกษาในช่วง ตี 1 และไม่คาดคิดไว้ล่วงหน้าว่าจะมีการห้ามนั่งทานในร้านนานถึง 30 วัน แม้จะเข้าใจดีว่าเป็นการควบคุมการแพร่ระบาด แต่การที่รัฐไม่สื่อสารให้ชัดเจน ทำให้กระทบต่อการวางแผนงาน ทั้งสต็อกสินค้า และพนักงาน ที่เรียกลับมาทำงานทั้งหมดแล้วกว่า 160 วัน และด้วยเหตุเป็นร้านอาหารกลางคืน ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วย ทำให้ไม่สามารถเปิดขายแบบสั่งกลับบ้านหรือเดลิเวอรี่ได้ จึงตัดสินใจปิดร้าน แต่ยังให้พนักงานทำงาน ได้รับเงินเดือน ซึ่งที่ผ่านมาพยายามแก้ปัญหาในแต่ละระลอก ด้วยการใช้เวลาในการปรับปรุงร้าน และให้พนักงานไปฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดครั้งใหม่ การที่รัฐจะมีมาตรการเยียวยาช่วยพนักงานในระบบประกันสังคมและนายจ้างด้วยเป็นครั้งแรก ก็เป็นเรื่องดีที่ช่วยได้บ้าง แต่เห็นว่าจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปูพรมให้ร้านอาหารได้ฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงด้วย


ธุรกิจร้านอาหารถือเป็นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่สร้างมูลค่าปีละกว่า 4 แสนล้านบาท สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทำให้ร้านอาหารต้องปรับตัวทั้งร้านขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และขนาดกลาง อย่างร้านล็อบสเตอร์ แอนด์ ออยสเตอร์ ร้านอาหารซีฟู้ดสไตล์ยุโรป ที่เปิดมากว่า 7 ปีแล้ว จากร้านที่ตั้งอยู่ในย่านทองหล่อ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เจ้าของร้านย้ายมาเปิดในโครงการ The Pud English Garden ต้องลดพนักงานจากว่า 20 คน เหลือเพียง 4 คน และต้องทำส่งเดลิเวอรี่แม้ไม่เหมาะกับอาหาร แต่เพื่อความอยู่รอด ก็อดทนมาทั้ง 3 ระลอก จนในครั้งนี้ ตกใจกับคำสั่ง และคิดว่าหากภายใน 30 วันนี้ไปต่อไม่ไหวอาจต้อทบทวนเปลี่ยนธุรกิจ แต่ก็อยากเห็นผู้ประกอบการอยู่รอด จึงเห็นว่ารัฐต้องสื่อสารให้ถูกต้อง มีระยะเวลาที่แน่ชัด ในการจัดการลดการแพร่ระบาดและการฉีดวัคซีน


เจ้าของร้าน Jim’s burger เปิดเผยด้วยว่ากำลังรวมกลุ่มร้านอาหารรวมทั้งธุรกิจร้านกลางคืน ยื่นข้อร้องเรียนต่อ ศบค.ให้ปลดล็อกคำสั่งห้ามนั่งทานในร้าน เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่พบคลัสเตอร์ร้านอาหาร ซึ่งอาจเปิดให้นั่งทาน 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อพยุงไม่ให้ร้านอาหารต้องตายทั้งเป็น และมาตรการที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 7,500 ล้านบาท เยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิดตามคำสั่ง ศบค.ที่ 25 ไม่ได้ช่วยอย่างทั่วถึง โดยมาตรการนี้จะช่วยใน 6 จังหวัด ทั้ง กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร โดยจะช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกอบการ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน สูงสุดไม่เกิด 200 คน โดยเฉพาะในแรงงานสัญชาติไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคม กระทรวงแรงงานจะจ่ายชดเชยในเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน แต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และรัฐให้เงินชดเชยเพิ่มอีก 2,000 บาท เนื่องจากบางบริษัทถูกลดค่าจ้าง รวมเป็นเงิน 9,500 บาท โดยจากการสำรวจที่รัฐบาลต้องเยียวยา มีแรงงานในระบบกว่า 690,000 คน

คุณอาจสนใจ

Related News