สังคม

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดย kodchaporn_j

2 มิ.ย. 2564

26 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


วันนี้ เวลา 08.57 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทอดพระเนตรความก้าวหน้า การดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ของศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคีรีล้อม อำเภอบางสะพานน้อย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ศูนย์แห่งนี้ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 14 เปิดสอนระดับอนุบาล ถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 70 คน


ซึ่งครูใหญ่ ได้กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพอนามัยของนักเรียน ภาวะโภชนาการ ศักยภาพทางวิชาการและจริยธรรม การอาชีพที่ส่งเสริมให้นักเรียนฝึกปฎิบัติจริง อาทิ การตัดผม , การสานตระกร้าจากเส้นพลาสติก และการขยายการพัฒนาสู่ชุมชน ทุกกิจกรรมสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง มีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ ในปี 2562 โรงเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทการประกวดบันทึกรายงานการประชุม กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ระดับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม้จะเป็นพื้นที่ห่างไกล สัญญาณโทรศัพท์สื่อสารได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่นักเรียนทุกคนมีความพยายามตั้งใจเรียน


โดยสื่อการเรียนการสอนที่ใช้ระบบออนไลน์ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบผสมผสาน และระบบโทรมาตร นำร่องเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2559


ในการนี้ มีพระราชดำรัสกับนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ว่าช่วงเวลานี้นักเรียนต้องเรียนอย่างยากลำบาก แต่ก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด พยายามเปิดอินเตอร์เน็ต หาความรู้ อ่านหนังสือในห้องสมุด ขอให้ตั้งใจรักการเรียน สังเกตุสิ่งรอบตัว พยายามฟังข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นความรู้รอบตัวที่ดี พยายามหาความรู้ความสามารถพิเศษหลายๆ อย่าง จะได้มีทางเลือกนำไปประกอบอาชีพ และปรับเปลี่ยนได้เท่าทันกับความเป็นไปของโลก


สำหรับระบบไฟฟ้าที่ใช้ในโรงเรียน เป็นระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ช่วยพัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์ ทำให้โรงเรียนมีพลังงานไฟฟ้าใช้เพียงพอ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคช่วยดูแลบำรุงระบบ พร้อมให้ความรู้คนในชุมชน ทรงห่วงว่าหากถึงช่วงฤดูฝน การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะทำได้ยาก ซึ่งคณะผู้ดำเนินงาน ได้กราบบังคมทูลว่ามีแบตเตอรี่เก็บสำรองไฟสำหรับใช้ได้ต่อเนื่อง


ด้านการแก้ปัญหาน้ำ มีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก่อสร้างระบบปะปาบาดาล พร้อมระบบกระจายน้ำ ซึ่งมีพระราชดำรัสให้ช่วยกันอบรมให้ความรู้แก่ครู และนักเรียน ให้สามารถรักษา ดูแลระบบ และใช้อย่างถูกวิธี ด้านโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีผลผลิตเพียงพอ สำหรับพืชผลทางการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ ปีนี้เก็บผลผลิตได้มาก แต่การส่งไปจำหน่ายยังยากลำบาก เนื่องจากเส้นทางขนส่งไม่สะดวก โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท เรื่องการศึกษาหาความรู้


เวลา 14.58 น. เสด็จลง ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล ทรงร่วมการประชุมสุขภาพโลก ครั้งที่ 2 แห่งการประชุมปั๋วเอ๋า สำหรับเอเชีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล ZOOM จากประเทศไทย ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้นำระดับสูง ทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาควิชาการในการหารือประเด็นเศรษฐกิจ แสดงวิสัยทัศน์ มี World Economic Forum เป็นแม่แบบ ปัจจุบันได้ขยายหัวข้อการหารือ ให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สุขภาพ การศึกษา วัฒนธรรม และสื่อสารมวลชน


โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 4 มิถุนายน 2564 ที่เมืองชิงต่าว มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบผสม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมประชุม และบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ ที่เข้าร่วมประชุมทางไกล คาดว่ามีผู้เข้าร่วมในที่ประชุมกว่า 1,500 คน และมีผู้เข้าร่วมฟังออนไลน์ประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลก


นายหลี่ เป่าตง (Mr. Li Baodong) เลขาธิการของการประชุมปั๋วเอ๋าสำหรับเอเชีย และนางมาร์กาเร็ต ฉั่น (Mrs. Margaret Chan) ประธานการประชุมสุขภาพโลก และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษในช่วงพิธีเปิดการประชุม ซึ่งทรงเล่าถึงประสบการณ์การทรงงานทางด้านสุขภาพ อนามัย และการศึกษาของเยาวชนไทย รวมถึงการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้งขึ้น เพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนา มานานกว่า 30 ปี


ในตอนท้ายทรงสรุปว่า ผลของโควิด-19 ทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสุขภาพ สุขอนามัย และความสำคัญของวัคซีนมากขึ้น โชคร้ายที่เรามีวัคซีนไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ประชาชนสนใจเรื่องคุณภาพอาหารและโภชนาการ เลือกอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ สนใจการเกษตรแบบชีวภาพ และเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สังเกตุเห็น คือประชาชนให้คุณค่ากับมิตรภาพมากขึ้น ห่วงใยกัน เพราะไม่มีใครที่จะปลอดภัย และมีความสุขได้เพียงลำพัง


สำหรับหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ "สุขภาพเหนือสุขภาพ ในปีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน คริสต์ศักราช 2030 " และยังหารือใน 3 ประเด็นสำคัญต่อจากการประชุมครั้งที่ 1 คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า , นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และสุขภาพในทุกนโยบาย และมีการประชุมในหัวข้อย่อยอีกกว่า 33 รายการ จึงเป็นเวทีสำคัญในการแบ่งปันประสบการณ์ แสดงวิสัยทัศน์ด้านสาธารณสุข และเป็นเวทีหารือระดับสูงด้านสุขภาพในระดับโลก

คุณอาจสนใจ