สังคม

ชาวปากช่องร้องยุติสร้างอุโมงค์รถไฟทางคู่ ชี้ไม่เป็นตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืน-ไม่ปลอดภัย รฟท.ยันสร้างตามแบบ

โดย panwilai_c

20 พ.ค. 2564

120 views

ผู้ประกอบกิจการรีสอร์ทที่พัก และผู้นำชุมชนที่อำเภอปากช่อง ร่วมกันฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ยกเลิกสร้างอุโมงค์ทางลอด ที่ไม่เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างรถไฟทางคู่ และอุโมงค์อาจไม่ปลอดภัย หากเทียบกับสะพานข้ามทางรถไฟที่ระบุไว้ในกฤษฎีกา ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงต่อชุมชนผ่านเอกสารว่าการก่อสร้างเป็นไปตามรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการออกแบบ พร้อมเดินหน้าขอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้ตรงตามที่ออกแบบก่อสร้าง


อุโมงค์ลอดทางรถไฟที่อยู่ระหว่างก่อสร้างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายอีสาน ช่วงสถานีมาบกะเบา ถึงชุมทางจิระ และอุโมงค์ลอดทางรถไฟนี้ จะเชื่อมทางหลวงแผ่นดิน 2422 หรือมิตรภาพสายเก่าที่ผ่านตัวเมืองผ่านช่อง เข้ากับทางหลวงแผ่นดิน 2243 ซึ่งเป็นหลักจากปากช่องไปลพบุรี ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ได้


อุโมงค์นี้เอง ที่นักธุรกิจรีสอร์ทที่พัก ผู้นำชุมชนเทพสถิตย์ ที่อยู่บริเวณก่อสร้างและชาวปากช่องอีกหลายคนลงชื่อคัดค้านอุโมงค์ตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่าเส้นทางหลักนี้มีรถสัญจรมากอุโมงค์จะไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย หากเทียบกับinterchange หรือสะพานมาตรฐานเพื่อข้ามทางรถไฟ


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่าการสร้างอุโมงค์ทางลอด หรือ underpass ไม่ตรงตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน มาตรา 4 ซึ่งระบุว่า เวนคืนเพื่อสร้างทางและสะพานข้ามทางรถไฟ และผู้ร้องย้ำว่าสะพานข้ามทางรถไฟ ไม่ใช่อุโมงค์ลอดทางรถไฟ กรณีนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่กลุ่มผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองด้วยว่าเป็นการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย


ข่าว3มิติพบคำชี้แจงและความพยายามแก้ปัญหาของการรถไฟฯผ่านเอกสารหลายฉบับ เช่น กรณีอุโมงค์ทางลอด ยืนยันว่าเป็นไปตามการศึกษา EIA และการออกแบบก่อสร้างที่เป็นอุโมงค์ทางลอดตั้งแต่แรก ส่วนกรณีที่ไม่สอดคล้องกับพระราชกฤษฏีกาเวนคืนนั้น การรถไฟฯได้ทำหนังสือ เมื่อสิงหาคม 2562 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เสร็จก่อนพระราชกฤษฏีกาฉบับเดิมจะสิ้นอายุในวันที่1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการขอแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชกฤษฏีกาแล้วเสร็จก่อนฉบับเดิมสิ้นอายุเมื่อ 1 กุมภาพันธ์หรือไม่ แต่มีข้อเท็จจริงว่าที่ดินเอกชนที่อยู่ปากทางอุโมงค์ยังไม่ถูกเวนคืน นั่นทำให้อุโมงค์ทางลอด ต้องชะลอไว้เท่านี้ก่อน และจะเจรจาเวนคืนต่อได้ ก็ต่อเมื่อขั้นตอนกฎหมายแล้วเสร็จ ระหว่างนี้จึงใช้ทางชั่วคราวนี้ไปก่อน


ข่าว 3 มิติ ติดตามประเด็นนี้ไม่ใช่เฉพาะในแง่ว่ามีการร้องเรียนทั้งวิธีปฎิบัติงาน และข้อกฎหมายเท่านั้น แต่เพราะนี่คือโครงการขนาดใหญ่ ที่มีกระจายหลายพื้นที่ในภูมิภาค และเฉพาะโครงการนี้ก็มีความยาวกว่า 130 กิโลเมตร วงเงินกว่า 2 หมื่น 9 พันล้านบาท ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข อาจเกิดผลกระทบอีกหลายพื้นที่ และเฉพาะกรณีนี้ ผู้ร้องก็มีข้อเสนอที่เป็นทางออกของปัญหาด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News