สังคม

เปิด 9 มาตรการยกระดับคุมเข้มโควิด - กทม.ผ่อนปรนขายแอลกอฮอล์ได้ แต่ห้ามนั่งดื่มที่ร้าน

โดย weerawit_c

17 เม.ย. 2564

757 views

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิณ โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.แถลงภายหลังการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่าที่ประชุม เห็นชอบยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน ทุกจังหวัด อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ประกอบด้วย


1. ห้ามดำเนินการหรือจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ของโรค

- ห้ามใช้อาคารสถานที่โรงเรียน สถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอน

- ห้ามกิจกรรมรวมกลุ่มของคนมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่


2. ปิดสถานบริการ ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร

- ปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด อย่างน้อย 14 วัน


3. กำหนดพื้นที่สถานการณ์ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี อุดรธานี และพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด



4. พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง)

- ร้านอาหาร เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. ซื้อกลับ ถึง 23.00 น.

- ร้านอาหาร งดจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

- ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดถึง 21.00 น. งดเว้นส่งเสริมการขาย และปิดเครื่องเล่น

- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ปิดบริการ 23.00 - 04.00 - สนามกีฬา ยิม ฟิตเนส เปิดได้ถึง 21.00 น.


5.พื้นที่ควบคุม (สีส้ม)

- ร้านอาหาร เปิดได้ ถึง 23.00 น.

- ร้านอาหาร งดจำหน่ายสุรา

- ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดถึง 21.00 น. งดเว้นส่งเสริมการขาย และปิดเครื่องเล่น


6. งดงานเลี้ยงสังสรรค์-รื่นเริง


7.ขอความร่วมมือ Work from home ทั้งภาครัฐและเอกชน


8.ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน สาธารณสุข และ มหาดไทย และ ด้านความมั่นคง จัดหาสถานที่รองรับ ดูแลรักษา แยกกัก กักกัน / ให้ผู้ติดเชื้อ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อ เข้าตรวจเชื้อ และรับการแยกกัก หรือ กักกัน เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาต่อไป


9. ทดลองใช้มาตรการ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.เป็นต้นไป (หลังเที่ยงคืนของวันเสาร์)



ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบปฏิบัติตามข้อกำหนดของศบค.ซึ่งได้ประกาศเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) ให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และปฏิบัติมาตรการต่างๆ ไม่น้อยกว่า 14 วันนับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.64 เป็นต้นไป ดังนี้


1.ร้านอาหารเปิดให้นั่งทานอาหารไม่เกิน 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น.ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น

2.งดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน สถานบันเทิงผับ บาร์คาราโอเกะ อาบอบนวดปิดให้บริการ

3.ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการถึง 21.00 น. (งดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก)

4.ร้านสะดวกซื้อเปิดได้เวลา 04.00-23.00 น. สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชางดการเรียนการสอนในห้องเรียน สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ฟิตเนสและยิมเปิดให้บริการถึง 21.00 น.

5.นอกจากนี้ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 50 คน และกิจกรรมที่เป็นงานเลี้ยง งานสังสรรค์ หากเกิน 50 คนต้องขออนุญาตสำนักงานเขตพื้นที่ก่อน

6.ขอความร่วมมือให้สถานประกอบการ บริษัทสลับวันทำงาน เหลื่อมเวลาทำงานหรือใช้มาตรการ work from home ให้ได้มากที่สุด



ทั้งนี้ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมากขึ้น โดยกรุงเทพมหานครสามารถรับผู้ป่วยโควิดได้ 9,183 คน มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้ว 4,939 คน และรองรับได้อีก 4,244 คน


ด้านนายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงขั้นตอนการประกาศเคอร์ฟิวส์ ว่ามอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ เหมือนเหตุการณ์แพร่ระบาดที่ จ.สมุทรสาคร ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตัดสินใจเอง ถือเป็นการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะทราบถึงความจำเป็นในสถานการณ์แต่ละจังหวัดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งภาพรวมทั่วประเทศหากมีการประกาศเคอร์ฟิวส์ จะให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนให้น้อยที่สุด เช่นมาตรการที่เพิ่มขึ้น ให้งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร การสั่งปิดผับบาร์ โดยจะให้ปิดถึงสิ้นเดือน เม.ย. เพื่อให้คนไปรวมตัวน้อยลง ลดการแพร่ระบาดและการติดเชื้อได้ เนื่องจากคลัสเตอร์ที่แพร่ระบาดช่วงสงกรานต์ เป็นคลัสเตอร์ที่มาจากผับและบาร์ ส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ ที่ต้องเดินทางไปหลายพื้นที่


ชมผ่านยูทูบที่ : https://youtu.be/GhpF0VCK3ow

คุณอาจสนใจ