พระราชสำนัก
องคมนตรีชลิต ติดตามปฏิบัติการฝนหลวง และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ จ.เชียงใหม่
โดย weerawit_c
25 มี.ค. 2564
35 views
ที่กองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานฝนหลวง ทั้งนี้ในปี 2563 ได้ดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี รวมทั้งจัดทำแผนการก่อสร้างอาคาร โครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ตามศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมประชุมหารือวางแผนการช่วยเหลือประชาชน เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 และติดตามสถานการณ์น้ำ ขณะนี้มีปริมาณน้ำสะสมน้อยกว่าร้อยละ 30 สำหรับการปฏิบัติภารกิจฝนหลวง ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้รับการสนับสนุนด้านอากาศยาน และกำลังพลจากกองทัพอากาศ ปัจจุบันได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศรวม 11 หน่วย เริ่มปฏิบัติภารกิจ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รวม 345 เที่ยวบิน มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตก 38 จังหวัด พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 43.68 ล้านไร่ และมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำ เขื่อน, อ่างเก็บน้ำ 32 แห่ง รวมทั้งใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่า ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 222 เที่ยวบิน
และไปติดตามความก้าวหน้าของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งตลอดระยะเวลา 38 ปี ได้พลิกฟื้นจากสภาพป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรม ให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยการพัฒนาป่าด้วยระบบคลองไส้ไก่-คูคลองก้างปลา, ระบบฝายต้นน้ำลำธาร และระบบน้ำฝนตามธรรมชาติ รวมทั้ง ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และนำผลสำเร็จของงานวิจัยถ่ายทอดความรู้ จัดเป็นหลักสูตรฝึกอบรมขยายผลแก่เกษตรกร และบุคคลที่สนใจ จำนวน 23 หลักสูตร
จากนั้น เยี่ยมชมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ โครงการจัดการองค์ความรู้การเพาะขยายพันธุ์ชะมดเช็ด และสัตว์วงศ์ชะมด เพื่อใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ตามแนวพระราชดำริ โดยขยายพันธุ์สัตว์วงศ์ชะมด ได้แก่ อีเห็น และอีเห็นข้างลาย ต่อยอดเป็นกาแฟขี้อีเห็น ที่มีรสชาติกลมกล่อม มีสรรพคุณแก้โรคลม , โครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ "ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์" เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เช่น เนื้อทราย, ไก่ฟ้าตุ้มหูแดง, ไก่ฟ้าหลังขาว ส่วนงานประมงมีการบริหารจัดการทรัพยากรประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ที่ 7 สามารถรวมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ทางการประมง มีสมาชิกเป็นประชาชนรอบศูนย์ฯ จำนวน 10 หมู่บ้าน ทั้งส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์น้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และจำหน่ายสร้างรายได้