เศรษฐกิจ

อัพเดตสถานการณ์โควิด-19 แบ่งโซน ไม่ล็อกดาวน์ ชาวบ้านค้านตั้ง รพ.สนาม

โดย

25 ธ.ค. 2563

336 views

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ยืนยัน ไม่มีคำว่า ล็อกดาวน์ประเทศไทย ในการประชุม ศบค. วันนี้ แต่มีการพิจารณาเตรียมพร้อมป้องกันระบาดใหม่ของโควิด-19 โดยให้แบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ไว้
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีงานการข่าวออกมาพอสมควร มีทั้งรอบเช้า รอบบ่าย รอบค่ำ ทำให้มีข้อมูลผิดสร้างความตื่นตระหนกให้พี่น้องประชาชน อย่างเมื่อวานที่ผ่านมา ก็มีข่าวว่าการประชุมใหญ่ ศบค.วันนี้ จะมีการประกาศ "ล็อกดาวน์" ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ก็มีการออกข่าวไปทั่ว จากนี้ไป ท่านนายกฯ มอบหมายให้ ผม (นายแพทย์ทวีศิลป์) มารายงานทุกวัน ในเวลาประมาณ 11.00-12.00 น.ทุกวันจากนี้ เพื่อข้อมูลจะได้ถูกต้องและตรงกัน
สรุปสถานการณ์ โควิด-19 วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2563
- ผู้ป่วยรายใหม่ 67 ราย
- ผู้ป่วยสะสม 5,829 ราย
- หายป่วยเพิ่ม 21 ราย
- รักษาอยู่ 1,653 ราย
- หายป่วยทั้งหมด 4,116 ราย
- เสียชีวิตเพิ่ม 0 ราย
- เสียชีวิตทั้งหมด 60 ราย
- มติศบค. แบ่งโซนสี คุมโควิด-19 (แดง ส้ม เหลือง เขียว) 
ในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งที่ประชุมมีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม อยุธยา กรุงเทพฯ และแนวชายแดน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติแบ่งโซนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไปเสี่ยงต่ำ (แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว) เพื่อใช้มาตรการควบคุมโรค
-พื้นที่สีแดง คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และมากกว่า 1 พื้นที่  (1 จังหวัด) คือ สมุทรสาคร
-พื้นที่สีส้ม คือ พื้นที่ควบคุม มีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 10 ราย และแนวโน้มติดเพิ่มขึ้น (4 จังหวัด) คือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม
-พื้นที่สีเหลือง คือ พื้นที่เฝ้าระวังสูง  มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย (25 จังหวัด) สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี อุตรดิตถ์ ฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อยุธยา ภูเก็ต เพชรบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี กระบี่ ขอนแก่น ชัยนาท อุดรธานี พิจิตร นครศรี สุราษฎร์ธานี ประจวบฯ ชัยภูมิ นครสวรรค์ อ่างทอง
-พื้นที่สีเขียว คือ จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ
- ศบค. แถลงปีใหม่ จัดงานที่ไหนได้?
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดงานปีใหม่ 2564 โดยมีมติให้งดจัดกิจกรรมการฉลองทุกชนิด ยกเว้นการกิจกรรมแบบออนไลน์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด คือ จ.สมุทรสาคร 
โดยรายละเอียดการจัดงานนั้น จะแบ่งตามโซนพื้นที่ดังต่อไปนี้ 
1. พื้นที่ควบคุมสูงสุด - งดจัดกิจกรรมปีใหม่ ให้จัดออนไลน์
2. พื้นที่ควบคุม - สามารถจัดกลุ่มเฉพาะคนคุ้นเคย หรือจัดออนไลน์
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า จังหวัดในพื้นที่ควบคุม คือ จังหวัดรอบพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เช่น สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม กทม.(เฉพาะฝั่งตะวันตก) ให้หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากทุกรูปแบบ งดจัดกิจกรรมสาธารณะ และผ่อนผันให้จัดในกิจกรรมที่จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือแบบออนไลน์
3. พื้นที่เฝ้าระวังสูง – สามารถจัดกิจกรรมปีใหม่ได้ ลดขนาดงาน และคนไม่ให้คับคั่ง
4. พื้นที่เฝ้าระวัง – สามารถจัดกิจกรรมปีใหม่ได้ ลดขนาดงาน และคนไม่ให้คับคั่ง
อย่างไรก็ดี นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า เบื้องต้น อย่างน้อย 30-40 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีเหลืองและสีเขียว น่าจะยังจัดได้แต่ต้องลดขนาดการจัดงานและผู้ร่วมงาน
- ชาวบ้านสมุทรสาคร กลัวโควิด ค้านตั้งโรงพยาบาลสนาม ม.การกีฬาแห่งชาติ
ขณะที่ ช่วงเที่ยงวันนี้ ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร กว่า 100 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยฯ เพื่อคัดค้านการทำพื้นที่ให้เป็นโรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยมีทั้งนั่ง และยืนขวางรถของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่จะเข้าไปปรับพื้นที่ ไม่ให้เข้าไปภายในรั้วของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร ม.3 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 
ทั้งนี้ ทางตัวแทนภาครัฐโดยการนำของนายอาวุธ วิเชียรฉาย ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร พ.ต.อ.วรพล ยิ่งเจริญ รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร เข้าพบปะพูดคุยกับตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่มาร่วมกันคัดค้าน เพื่อรับฟังข้อกังวลและแนวทางความต้องการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ด้านตัวแทนชาวบ้านรอบชุมชนมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสมุทรสาคร ได้กล่าวว่า พวกตนจะไม่ยอมให้มีการทำโรงพยาบาลสนามในพื้นที่นี้อย่างเด็ดขาด เพราะว่าชุมชนที่อยู่โดยรอบมีประชากรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ไม่รวมแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งยังมีสถานศึกษา มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ นี้ เป็นเหมือนใจกลางของชุมชนโดยรอบ 
ดังนั้น จะเอาคนที่มีเชื้อโควิด-19 มาไว้ตรงกลางของชุมชนโดยรอบ จึงไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครรับประกันถึงความปลอดภัยจากโรคร้ายได้ว่าจะไม่มีการแพร่กระจายไปสู่ชุมชน หรือจะไม่มีผู้ป่วยหลบหนีออกไป ซึ่งเท่าที่ดูจากกำลังของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในขณะนี้ก็แทบจะไม่เพียงพออยู่แล้ว หากเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาไว้ที่มหาวิทยาลัยฯ จะมีใครมาควบคุมดูแลได้
ดังนั้นจึงต้องการให้ทางจังหวัดสมุทรสาครกลับไปหารือ และหาแนวทางการแก้ไขในเรื่องนี้กันใหม่ อย่าเอาเชื้อโรคมาโยนใส่ให้ชาวบ้าน
โดยบรรยากาศการคัดค้านนั้น ชาวบ้านก็ยังคงปักหลักไปเรื่อยๆ เพราะเกรงว่าจะมีการลักลอบนำอุปกรณ์ เตียง หรือผู้ป่วยเข้าไปในพื้นที่ แต่ล่าสุดทางรถของเจ้าหน้าที่ทหารได้ถอยร่นออกไปก่อน เพื่อเป็นการลดภาวะความตึงเครียดจากสถานการณ์ดังกล่าว
ขณะที่ ในส่วนของ พ.ต.อ.วรพล ยิ่งเจริญ รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร ที่ได้แนวทางมาควบคุมสถานการณ์ด้วยนั้น กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวตนจะไปประชุมหารือกันกับทางคณะกรรมการโรคติดต่อ และจะมาส่งข่าวให้ประชาชนทราบ โดยคาดว่าจะเป็นไปในทางที่ดี
- แรงงานต่างด้าว ตรวจโควิดฟรีหรือไม่?
ประเด็นที่หลายคนถามว่า แรงงานต่างด้าว เข้าตรวจใน รพ.ต่างจังหวัด จะต้องเสียค่าตรวจโควิด-19 หรือไม่ ขอเรียนว่าคนไทยเราเองไปขอรับการตรวจได้ แต่ต้องให้เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มาจากพื้นที่เสี่ยง หากเข้าเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ ก็สามารถทำได้หมด 
ส่วนกรณีของแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาอยู่ในประเทศ หากมีเกณฑ์ใกล้เคียง หรือเหมือนกันก็สามารถมาตรวจได้ ไม่ใช่แค่ฟังข่าวแล้วกลัว เลยเดินทางมา บอกอยากมาตรวจ แต่ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้เดินทางไปจุดเสี่ยงด้วยซ้ำ หรือมีเกณฑ์เสี่ยงอะไรเลย อย่างนี้ก็คงตรวจฟรีไม่ได้
- นายกฯ ยันยังคุมได้ เหตุผลต้องมีต่างด้าว เพราะคนไทยไม่ทำ
เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 24 ธ.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า ได้รับการยืนยันจากสาธารณสุขและแพทย์กรมควบคุมโรค ว่า ยังสามารถควบคุมได้ในระดับเป็นที่น่าพอใจ ต่อจากนี้ก็เหลือแต่ความร่วมมือกับพื้นที่ต่างๆ อย่างไร
และหากใครรู้ตัวว่าไปพื้นที่เสี่ยงก็ขอให้กักตัวเอง แต่หากมีอาการก็ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจฟรี และที่ต้องมีแรงงานต่างด้าวเพราะคนไทยไม่ทำงานประเภทเหล่านี้ แต่ก็มีคนเห็นแก่ตัวนำพาเข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย พอเดือดร้อนก็มาขอรัฐบาลเยียวยา
โดยจะมีการนำมาตรการให้แรงงานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำงานได้เป็นการชั่วคราว เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า
“ใครที่ไปพื้นที่เสี่ยง ไม่ต้องการเป็นภาระใครก็อยู่ที่บ้าน 14 วัน ทางการแพทย์บอกว่าจะดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ดี หาหมอ รักษาได้หมด ที่มีคนตายตอนแรกเพราะยายังไม่มี วันนี้ยามีพร้อม ไม่ได้หวังให้ใครตาย เขายืนยันว่าถ้ารักษาทันเวลา ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็หายได้ หลายคนไม่ใช้ยาก็หายเพราะภูมิต้านทานจะเกิดขึ้นมาเอง โดยเฉพาะคนที่แข็งแรง แต่อาจจะเสี่ยงสูงกับเด็ก คนชรา คนที่มีโรคประจำตัว เรื่องวัคซีนก็กำลังติดตามอยู่ เราต้องมีมาตรการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน เมื่อปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียงเราก็พร้อมจะฉีด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
- รมว.ศึกษาธิการ เผย ศบค.ไฟเขียว "โรงเรียน-ชุมชน" จัดงานวันเด็กได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (ศบค.) ถึงมาตรการวันเด็กแห่งชาติ ว่า งานทั้งในพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่เอกชน ที่เชิญชวนเด็กมาร่วมงาน ไม่สามารถจัดได้ เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้มาร่วมงานมาจากที่ใด 
ส่วนงานกิจกรรมในพื้นที่ชุมนุม รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ สามารถจัดได้ เพราะสามารถยืนยันตัวตนเด็กนักเรียน และรู้ว่าบุคคลมาร่วมงานมาจากที่ใด เป็นไปตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด
นายณัฏฐพล กล่าวว่า ส่วนการควบคุมสถานการณ์โควิดในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานว่า ได้ปิดโรงเรียนจำนวน 528 โรงเรียน อาชีวะปิดไป 20 วิทยาลัย ภาคเอกชน ปิด 220 โรงเรียน โดยโรงเรียนปิดมากที่สุดคือ ที่จังหวัดสมุทรสาคร และบางโรงเรียนในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีโอกาสติดโควิด ก็สั่งปิด ซึ่งเราควบคุมสถานการณ์ตาม ศบค. ไม่ได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด สามารถแยกแยะและควบคุมได้ เพราะเรามีข้อมูลเพียงพอว่านักเรียนมาจากที่ไหน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ