พระราชสำนัก

องคมนตรี ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดย

17 ธ.ค. 2563

899 views

องคมนตรี ติดตาม และขับเคลื่อน การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคกลาง และคณะ ไปเยี่ยมชมสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่ ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพระราชทานเครื่องสีข้าว โดยดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ชุมชน และเดินทางไปยังวัดอุดมพลาราม หรือวัดไร่บน อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โอกาสนี้ได้ถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ และสามเณร จำนวน 25 รูป พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา การกัดเซาะตลิ่งในบริเวณวัด
จากนั้น เดินทางไปยังแปลงเกษตรของนายสมปลอด พูลสมบัติ เกษตรกร เพื่อรับฟังการบริหารจัดการ ของกลุ่มผู้ใช้น้ำ จากโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ พร้อมชมแปลงเกษตรบนพื้นที่ 9 ไร่ ซึ่งได้น้อมนำแนวพระราชดำริ การทำเกษตรทฤษฏีใหม่ และหลักบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียงมาปรับใช้ โดยปลูกสวนผลไม้ผสมผสาน เช่น ทุเรียน เงาะ ชมพู่ พืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร และเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ทำให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี
ในช่วงบ่าย ไปติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2546 เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่ากุยบุรี นับเป็นโครงการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริแห่งแรก ที่เป็นต้นแบบการเพิ่มการกักเก็บน้ำ จากเดิมความจุ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 41.10 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากจะช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก ได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย
พร้อมกับไปติดตามโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างให้เพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ ” โดยในปี 2563 ได้จัดหาและรวบรวมพืชอาหารช้าง (พันธุ์ไผ่ท้องถิ่น) ปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า จำนวน 3 แห่ง ปรับปรุงแหล่งอาหารสัตว์ป่า (โป่งเทียม) จำนวน 20 แห่ง พร้อมทดลองทำชุดรั้วรังผึ้งสาธิต และอุปกรณ์ เพื่อช่วยเพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร สามารถลดการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างป่า นอกจากนี้ราษฎรยังมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ก่อเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ช้างป่า ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง