เลือกตั้งและการเมือง

แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เรียกร้องยกเลิก ม.112 เนื่องในวันรธน. ชี้ปิดกั้นเสรีภาพปชช.

โดย

10 ธ.ค. 2563

731 views

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และะการชุมนุม เปิดแคมเปญ ยกเลิกมาตรา 112 หลังพบว่า 1 เดือนที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีกับนักศึกษาและประชาชนไปแล้ว 12 คน จำนวน 25 คน ล่าสุดเป็นนักเรียน อายุ 16 ปี
ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยข้อมูลการดำเนินคดี 112 ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 มี 66 คดี ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบ ต่างเห็นว่า มีการใช้กฏหมายฉบับนี้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง และยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน จึงเสนอให้มีการยกเลิก 
กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวน 8 คน เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อ่านแถลงการณ์จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน มีบทลงโทษรุนแรง และยังเปิดโอกาสให้มีการนำกฎหมายมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง เนื่องจากเปิดให้มีผู้ใดก็ได้ยื่นฟ้อง ซึ่งภายใน 1 เดือนที่ผ่านมา มีนักศึกษาและประชาชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้ว 12 คดี จำนวน 25 คน ล่าสุดเป็นนักเรียนวัย 16 ปี ที่เข้าร่วมการชุมนุมที่สีลม จึงมีการเปิดเว็บไซต์ no112.co ในการรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบแหละเหตุผลในการยกเลิกมาตรานี้ที่มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย
กิจกรรมยกเลิก 112 สิ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ ม็อบเฟส ยังได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับคนที่ถูกดำเนินคดี 112 ที่นอกจากจะเป็นแกนนำคณะราษฎร ยังมีนักศึกษา นักกิจกรรม ที่บางคนไม่เคยขึ้นเวทีปราศัย แต่ร่วมอ่านแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เพียง 3 บรรทัด บางคนเคยถูกจำคุกจากคดี 112 มาแล้ว เช่น นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา และ นายสมยศ พฤษาเกษมสุข ซึ่งกล่าวในเวทีเสนวนา 112 ด้วยว่า หลังถูกจำคุกมา 7 ปี ต้องสูญเสียอิสรภาพ สูญเสียครอบครัว เมื่อพ้นโทษมาแล้ว ยังไม่สามารถละทิ้งอุดมการณ์มาเข้าร่วมกับนักศึกษาที่ยังต่อสู้กับเรื่องนี้ และยังมาถูกดำเนินคดีอีกจำนวนมาก ทั้งๆที่เป็นกฏหมายที่มีบทลงโทษสูงถึง 15 ปี
ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า หลังรัฐประหาร ปี 2557 มีการดำเนินคดีในความผิดมาตรา 112 มากถึง 54 คดี และกลับมาอีกครั้งในปีนี้ รวมแล้ว 66 คดี เฉพาะการดำเนินคดีกับนักศึษามีนายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรค ถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยที่หน้ารัฐสภา เพียงไม่กี่คำ เมื่อถูกดำเนินคดีก็มีความขัดแย้งกับครอบครัว แต่ไม่ได้ทำให้ล้มเลิกความตั้งใจในการร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย 
นางสาว ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ ทนายความทีทำคดีนี้ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะบอกว่า เป็นคดีนโยบาย ที่ต้องดำเนินการ ซึ่งบางคดีมีผู้ต้องหาถูกคุมขังโดยไม่ได้กระทำผิด เพราะคดี 112 ไม่ให้ประกันตัว และบางคนถูกดำเนินคดีเพียงเพราะวาดภาพ แต่งกลอน หรือกดไลท์ เท่านั้น 
ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า เห็นว่าปัญหาของมาตรา 112 มาจากการกำหนดไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ หมวดความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้คดีนี้จึงไม่ให้ประกันตัว และมีอัตราโทษสูง ซึ่งเดิมจำคุกไม่เกิน 7 ปี แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพิ่มจำคุกไม่เกิน 3-15 ปี และการที่ให้บุคคลใดก็ได้แจ้งความ ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันได้ง่าย จึงเห็นว่าหากต้องยกเลิกจะต้องรวมถึงกฏหมายหมิ่นประมาณ ที่ไม่ควรต้องติดคุก แต่ควรมีความผิดทางแพ่งเท่านั้น
กิจกรรมยกเลิก 112 ยังจัดขึ้นในวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล ที่มีการแสดงคอนเสริ์ต โดยเฉพาะจากวงไฟเย็น ที่ถูกดำเนินคดี 112 ที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงการปาฐกถาจากนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ ที่ยอมรับว่า ไม่มีหมายจับคดี 112 แต่ต้องลี้ภัยเพราะการแสดงความเห็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และปิดท้ายด้วยการปาฐกถา จากนางสาว ปนัสยา สิทธิจริวัฒนกุล ที่ขอให้ผู้ชุมนุมร่วมกับระลึกถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 ที่บางคนยังติดคุกโทษสูงสุด 30 ปี บางคนต้องลี้ภัย และบางคนเสียชีวิต จึงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรานี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนจะยุติการชุมนุมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาในช่วง 19.00 น. ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ข่าว 3 มิติรายงาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ