สังคม

เตือนภัยเงียบ 'โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน' ทำ 3 นักวิ่งดับสลด ชี้แม้แต่นอนหลับก็เสียชีวิตได้

โดย

30 พ.ย. 2563

19.4K views

เกิดเหตุสลด นักวิ่งเสียชีวิต 3 ราย ในวันเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค วัย 59 ปี เสียชีวิตกะทันหัน ขณะร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอน ที่อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน อ.ค่ายบางระจัน ระยะทาง 5 กิโลเมตร

เมื่อเข้าสู่กิโลเมตรที่ 2  จู่ๆ ล้มลงจนหมดสติ ทีมแพทย์เร่งปฐมพยาบาลและนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์ลงความเห็นเบื้องต้นว่า เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ญาตินำศพเพ็ญกุศลที่วัดเสมียนนารี กรุงเทพฯ

ส่วนที่จังหวัดระยอง นักวิ่งเสียชีวิต 2 ราย ในงานวิ่ง อาสาพาวิ่ง 2020 เส้นทางวิ่งรอบอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง มีนักวิ่งเข้าร่วมแข่งนับพัน ผู้เสียชีวิตรายแรกคือ นายนราสิฐ สันสมภาค อายุ 54 ปี เป็นชาย ออกวิ่งไปได้สักพัก เกิดอาการวูบหมดสติ ทีมแพทย์เข้าช่วยเหลือ นำตัวส่ง รพ.ปลวกแดง เสียชีวิตในเวลาต่อมา

อีกรายคือ นายสกานต์ จันธิยะ อายุ 30 ปี หลังวิ่งออกจากจุดสตาร์ทได้ 4 กิโลเมตร  เกิดมีอาการวูบล้มลงหมดสติ ชีพจรหยุดเต้น ทีมกู้ชีพเข้าช่วยเหลือเร่งทำซีพีอาร์ยื้อชีวิต รีบนำตัวส่ง รพ.ปลวกแดง พร้อมปั๊มหัวใจตลอดทาง แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ เสียชีวิตเป็นรายที่ 2

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ สธ. เปิดเผยว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล

สาเหตุส่วนใหญ่เป็นผลมาจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน คือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ แต่อย่างไรก็ดี อาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา

ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง นอนหลับพักผ่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ แต่ยังรู้สึกตัวดีต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน หรือ ซีพีอาร์ (CPR) และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ หรือเครื่องเออีดี (AED) ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล

ปัจจุบัน สธ.มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เรียกว่าระบบช่องทางด่วน (fast track) โดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จะต้องได้รับการรักษาทันที ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหัวใจเพื่อการทำบอลลูน ซึ่งมีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง (golden period) 120 นาที ในการเปิดหลอดเลือดเลือดหัวใจ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

ภายหลังการรักษาผู้ป่วยต้องรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการมาพบแพทย์ตามนัด ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบว่าอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรง เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ ขาบวมกดบุ๋ม ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/c0m6Iuqn6eM

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ