เลือกตั้งและการเมือง

เปิดชื่อ 3 ส.ว.โหวตสวนทางรับร่างไอลอว์ 'พิธา' ผิดหวังร่างถูกตีตก

โดย

19 พ.ย. 2563

1.7K views

การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7ฉบับ ล่าสุดที่ประชุมรัฐสภามีมติ รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียง 2 ฉบับ ได้แก่

- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ฉบับ ของฝ่ายค้าน ด้วยคะแนน 576 (ส.ส.449 ส.ว. 127 เสียง) ไม่รับหลักการ 21 คะแนน งดออกเสียง 123 คะแนน

- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยคะแนนเสียง 647 เสียง (ส.ส. 471 ส.ว. 176 เสียง ) ไม่รับหลักการ 17 เสียง งดออกเสียง 55 คะแนน

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีก 5 ฉบับ ที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ เพราะมี ส.ว.รับหลักการไม่ถึง 1 ใน 3 ของ ส.ว. ที่มีอยู่ คือ 82 คน ประกอบด้วย

- ฉบับของพรรคเพื่อไทย ประเด็นยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ ด้วยมติรับหลักการ 213 เสียง (ส.ส.209 ส.ว. 4 เสียง) ไม่รับ 35 เสียง งด 472 เสียง

- ฉบับของพรรคเพื่อไทย ประเด็น ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยมติ 268 เสียง (ส.ส 212 ส.ว 56 ) ไม่รับ 20 งด 432

- ฉบับของพรรคเพื่อไทย ประเด็น ในการยกเลิก อำนาจ คสช. ด้วยมติ 209 ไม่มี ส.ว. สนับสนุน ไม่รับหลักการ 51 เสียง งด 460

- ฉบับของพรรคเพื่อไทย ประเด็นแก้ระบบเลือกตั้งกลับไปใช้แบบบัตร 2 ใบ ของปี 2540 ด้วยมติ 268 เสียง (ส.ส. 209 ส.ว. 59 เสียง) ไม่รับ 19 เสียง งด 432

- และฉบับของกลุ่มไอลอว์ ที่ประชาชน เข้าชื่อ จำนวน 98,041 คน ด้วยมติ 212 (ส.ส. 209 ส.ว. 3 เสียง) ไม่รับ 139 งด 369 เสียง

สำหรับ ส.ว. 3 คน ที่ลงมติสวนทาง รับหลักการให้ฉบับไอลอว์ ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายพิศาล มาณวพัฒน์ และนายพีระศักดิ์ พอจิต

และแม้ว่า ส.ว. ส่วนใหญ่จะรับหลักการ 2 ฉบับแรก ของฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่มีจำนวนไม่น้อย ที่งดออกเสียง ให้ เพราะห่วงว่าขัดรัฐธรรมนูญ จึงไปลงมติให้ฉบับรายมาตราของพรรคเพื่อไทยแทน ในประเด็นยกเลิกอำนาจ ส.ว. เอง ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขระบบเลือกตั้ง

ขณะที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่รับหลักการ เฉพาะ 2 ฉบับแรก มีเพียง ส.ส. ที่ร่วมเคยอุดมการณ์กับกลุ่ม กปปส. ที่ลงมติไม่รับทุกฉบับ อาทิ นายชุมพล จุลใส พรรคประชาธิปัตย์, นายณัฐพล ทีปสุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส. พรรครวมพลังประชาชาติไทยทั้งหมด ส่วนฝ่ายค้าน แทบจะทั้งหมดลงมติรับหลักการทุกฉบับ

ขณะที่การอภิปรายตลอดทั้งวันที่ผ่านมา มีการถกเถียงร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่ ส.ว. และ ส.ส.รับบาลไม่เห็นด้วยเพราะอาจจะไปกระทบเนื้อหาเกี่ยวสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังลงมติที่ประชุมรัฐสภาปัดตกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์ว่า แม้รัฐสภาจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1และ 2 ของรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ยังกังวลว่าจะเกิดระเบิดเวลาที่ชื่อรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ยังไม่ถูกถอดสลัก พร้อมรู้สึกผิดหวังที่รัฐสภาคว่ำร่างของประชาชน ทำลายความฝันและฝากความขัดแย้งกลับไปสู่ท้องถนน รวมถึงทัศนคติในเนื้อหาการอภิปรายที่เป็นภัยต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันตรายถึงขั้นนำสถาบันมาเป็นเกราะกำบังซึ่งจะนำนำประเทศไปสู่ความรุนแรงและทางตัน 

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Wv1QnD1yRPk

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ