เลือกตั้งและการเมือง

'อภิสิทธิ์' แนะรัฐรับ 7 ร่างแก้รธน. - 'สุดารัตน์' เสนอบันได 3 ขั้น คืนอำนาจประชาชน

โดย

13 พ.ย. 2563

1.7K views

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอที่ประชุมรัฐสภา เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ เชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกประเทศ ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เสนอบันได้ 3 ขั้น คืนอำนาจประชาชน เลือกตั้งใหม่ ภายในปลายปี 2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องแสดงความจริงใจด้วยการลาออก ในต้นเดือนธันวาคมนี้ เปิดทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใน 8 เดือน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นคำตอบ ซึ่งต้องรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ เพราะการแก้ไขในมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร.มาแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ยังจะต้องผ่านการออกเสียงประชามติ และไม่สามารถเป็นทางออกได้ การรับหลักการทั้งหมด เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สะท้อนว่า รัฐบาลเข้าใจปัญหา และ เป็นเวทีที่สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นในหมวด 1 และ หมวด 2 เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ จึงหวังว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะแสดงจุดยืน ต่อที่ประชุมรัฐสภา ประกาศให้ ส.ส.และ ส.ว. รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ เพื่อเป็นการแสดงการถอยคนละก้าว แต่หากรับหลักการเพียงร่างรัฐบาลเพียงร่างเดียว ก็จะถูกมองเป็นการยื้อเวลาได้
ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานก่อตั้งสถาบันสร้างไทย วิกฤตครั้งนี้ต้องแก้ด้วยสติ รอบคอบ ไม่ใช้กำลังหรือรัฐประหาร เพราะยังมีปัญหาเศรษฐกิจ จึงเสนอบันได 3 ขั้นไปสู่ทางออกประเทศไทย เริ่มจากการเปิดเวทีปลอดภัยให้ผู้เห็นต่างกับนายกรัฐมนตรีได้คุยกัน ก่อนตั้งคณะกรรมการแสวงหาทางออกโดยมีกฏหมายรองรับ กำหนดเวลา 3-5 เดือน นำผลการศึกษาเสนอต่อรัฐสภา ส่วนขั้นที่สอง จะต้องเร่งแก้ไขรัฐรรมนูญ เสนอรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ แก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่ง นายกรัฐมนตรีควรเสียสละลาออก ให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ มาตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เปิดทางให้มีการเลือกต้ัง ส.ส.ร.กำหนดเวลายกร่างภายใน 8 เดือน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จเสร็จ เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน เลือกตั้งใหม่ ไม่เกิดสิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นข้อเสนอส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยหรือกรณีมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ
ส่วน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ยืนยันว่า พร้อมรับหลักการร่างแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร. ทั้งของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนร่างอื่นๆ อีก 4 ร่างนั้น ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ที่เกรงว่า อาจขัดรัฐธรรมนูญเอง และขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะร่างของ ไอลอว์ ที่ยังมีปัญหา ประเด็น ในการแก้ไขกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ โดยเฉพาะ ปปช.ที่อาจทำให้เหมือนการนิรโทษกรรมบุคคลที่ทุจริต จึงยังไม่รับหลักการร่างของไอลอว์ ส่วนการยื่นชือของ ส.ส.และส.ว.ให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทราบว่าไม่ทันการประชุมครั้งนี้
เวทีการพูดคุยยังมีพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ซึ่งเรียกร้องสปริตของพรรคร่วมรัฐบาลในการเปิดทางเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ หลังพลเอกประยุทธ์ ลาออก เพื่อให้มีการแก้ไขรัธฐรรมนูญของประชาชน ขณะที่นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้วุฒิสภาใช้บทบาทของการเป็นผู้แทนประชาชน ในการสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ