พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นวันที่ 2

โดย

10 พ.ย. 2563

862 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นวันที่ 2
วันนี้เวลา 9.12 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา ทอดพระเนตรนิทรรศการและผลงานวิจัย ที่จัดแสดงอยู่บริเวณโถงนิทรรศการของอาคารสิรินธรวิชโชทัย ฝั่งบี อาทิ โครงการสนองแนวพระราชดำริ ด้านวิชาการ CERN-DESY-GSI/FAIR ที่มีพระราชประสงค์ให้นักวิทยาศาสตร์จากประเทศไทย มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยที่เซิร์น หรือ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป
ปัจจุบันมีสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมสนองพระราชดำริในการประสานงาน ต่อยอดวงการวิทยาศาสตร์ไทยให้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีทิศทาง เกิดโครงการสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาค เชิงเส้นต้นแบบ พร้อมอุปกรณ์ในการสร้างเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ส่วนการพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาค สำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรม มีการออกแบบและสร้างเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเชิงเส้นพลังงาน 6 Mev เพื่อผลิตรังสีเอกซ์สำหรับการปลอดเชื้อ และยืดอายุผลผลิตทางการเกษตร สามารถถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการรายย่อยได้แล้ว ขณะที่งานวิจัยเรื่องกระจกเกรียบโบราณ จากแสงซินโครตรอน ปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบ และศึกษาสถานะเคมีของธาตุให้สีได้แล้ว ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสูตรแก้วสีโบราณ และการคิดค้นกรรมวิธี ผลิตกระจกเกรียบขึ้นใหม่ ทำให้งานซ่อมลาย ประดับกระจก อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ กลับมางดงามอีกครั้ง
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปห้องปฏิบัติการแสงสยาม ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายระบบลำเลียงแสงที่ 1 ที่สร้างขึ้นใหม่ ประกอบด้วย ระบบลำเลียงแสงด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ,เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ และเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ ที่นำไปใช้กับงานวิจัยได้หลายสาขา อาทิ วัสดุศาสตร์ เคมี สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีระบบลำเลียงแสง ที่ให้บริการถ่ายภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สามมิติด้วยแสงซินโครตรอน ที่เหมาะกับการวิเคราะห์โครงสร้าง ความพรุน รอยแตกร้าว รวมทั้งระบบลำเลียงแสงที่ใช้บันทึกปรากฎการณ์ การกระเจิงรังสีเอกซ์ ทั้งมุมแคบและมุมกว้าง ทำให้ได้ข้อมูลเรื่อง รูปร่าง และขนาดโครงสร้าง ช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ระหว่างโครงสร้างกับคุณสมบัติของสาร เช่น ความแข็ง ความยืดหยุ่น หรือลักษณะการทำปฏิกิริยากับสารอื่น เป็นต้น
ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปอาคารสุรพัฒน์ 3 ทอดพระเนตร ตู้เย็นแบบดูดซึมแอมโมเนีย 3 แหล่งพลังงาน เป็นตู้เย็นแบบไม่ใช้ไฟฟ้า ที่สถาบันฯ พัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีมาจากตู้เย็นน้ำมันก๊าด ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้นำมาซ่อมบำรุงจนใช้งานได้ปกติ เทคโนโลยีการทำความเย็นแบบไม่ใช้ไฟฟ้า มีใช้งานมานานกว่า 60 ปี ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม แต่ยังคงเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้ จากนั้นได้ทอดพระเนตรโครงการความร่วมมือ พัฒนาเครื่องเคลือบกระจก สำหรับโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์เชอเรนคอฟ ที่สถาบันฯได้ออกแบบระบบ และผลิตเครื่องเคลือบกระจก ให้กับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสะท้อนแสง ให้สังเกตุปรากฎการณ์ต่างๆ ทางดาราศาสตร์ได้ชัดเจนขึ้น
เวลา 13.56 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง โรงเรียนนานาชาติแองโกลสิงคโปร์ นครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ทรงเปิดอาคาร "เลิศพิทยรัตน์" อาคารเรียนรวม โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่ออาคาร อันมีความหมายว่า "อาคารอันยอดเยี่ยม ที่เป็นแหล่งเรียนรู้อันเป็นเลิศ" ในการนี้ทรงพระอักษรจีน ข้อความว่า "เถ้าหลี่ม่านเทียนเซี่ย" หมายถึง ศูนย์รวมนักเรียนจากทั่วทุกมุมโลก พระราชทานแก่โรงเรียนฯ เพื่อเป็นที่ระลึก แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการในหัวข้อ "Uniquely Anglo" นำเสนอหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา เน้นการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน มีวิชาภาษาไทยเป็นวิชาบังคับ นอกจากนี้ ยังฝึกให้นักเรียนมีภาวะผู้นำ สามารถคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคม ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 210 คน
เวลา 15.35 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "อาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้รับความอนุเคราะห์ที่ดินจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 สำนักงานธนารักษ์ พื้นที่นครราชสีมา ในการจัดสร้างอาคาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 ตลอดจนรองรับการขยายงาน บริการโลหิตแบบครบวงจร เป็นมาตรฐานเดียวกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เนื่องจากอาคารหลังเดิมคับแคบ ไม่เพียงพอสำหรับการให้บริการ 
โดยจัดสร้างอาคารทั้งหมด 4 หลัง ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน อาคารหอพัก ,อาคารซ่อมบำรุง และอาคารทิ้งขยะรวม ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคโลหิต ตรวจคัดกรอง และจ่ายโลหิตแก่โรงพยาบาลในเครือข่าย จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ สุรินทร์ และมหาสารคาม ทั้งในสถานการณ์ปกติ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีโลหิตที่มีคุณภาพ เพียงพอ ปลอดภัย อย่างทันท่วงที

แท็กที่เกี่ยวข้อง