พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดนครราชสีมา

โดย

9 พ.ย. 2563

1.1K views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดนครราชสีมา
วันนี้เวลา 9.43 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นการส่วนพระองค์ ไปยังโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ทรงเปิด "อาคารเฉลิมพระเกียรติ" ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยใน สูง 5 ชั้น ประกอบด้วย ศูนย์รักษาด้วยไฟฟ้า , ห้องยาผู้ป่วยใน , หอผู้ป่วยหญิง , หอผู้ป่วยชาย , หอผู้ป่วยพิเศษ และห้องดูแลผู้ป่วยจิตเวช ที่ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเดินหายใจเป็นการเฉพาะ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม และพระราชทานพระราชานุญาต ให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ประดับที่ป้ายอาคาร
สำหรับโรงพยาบาลแห่งนี้ เปิดให้บริการเมื่อปี 2508 ได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลขนาด 270 เตียง ให้บริการบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ป่วยสุขภาพจิต ดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการมหัศจรรย์ 1 พันวันพลัส กับการกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้วย TEDA 4l ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชทรัพย์ ในการพัฒนานวัตกรรมนี้ สำหรับใช้กระตุ้นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น นอกจากนี้ยังจัดรักษาโรคทางจิตเวช ด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า ,โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรคจิตเภทที่ดื้อยา , การใช้กระแสไฟฟ้าความเข้มข้นต่ำ กระตุ้นให้สารสื่อประสาท ในสมองที่ผิดปกติ กลับมาทำงานตามปกติ นอกจากนี้ได้พัฒนานวัตกรรม การให้บริการด้วยแอพพลิเคชัน อาทิ การคัดกรอง ประเมินตนเองเบื้องต้น , การจองคิวผ่านออนไลน์ , หุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ติดคิวอาร์โค้ดที่ซองยา สำหรับให้ผู้ป่วยและญาติ สแกนดูรายละเอียดและการใช้ยาอย่างถูกต้อง
เวลา 11.22 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการจัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคชุมชนท้องถิ่น 
โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น ภายในอาคารประกอบด้วย สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการวิจัย และพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ พื้นที่สำนักงานและห้องปฏิบัติการ , พื้นที่จัดกิจกรรม และแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ , โรงงานต้นแบบขนาดเล็ก และการบริการสนับสนุนระบบนิเวศ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ช่วยสร้างธุรกิจใหม่ที่ทันสมัย ส่งเสริมการนำผลการวิจัย และพัฒนาสู่ระบบการคุ้มครอง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เสมือนเป็นนิคมอุตสาหกรรมวิจัย ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการ ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ สามารถเข้าไปใช้บริการ ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัย เพื่อพัฒนา และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของตนเอง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2565
ต่อมาเวลา 13.24 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยัง อาคารสุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ทรงติดตามความก้าวหน้า ผลงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ในด้านต่างๆ ได้แก่ "แผ่นพื้นรอง รองเท้าอัจฉริยะ และ ระบบโทรเวชกรรม" ที่ใช้เทคโนโลยีพื้นรองเท้าเซ็นเซอร์ วัดการลงน้ำหนักบนฝ่าเท้า ประเมินรูปแบบการเดิน และการทรงตัวของผู้สวมใส่ ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือผู้สูงอายุ โดยทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ และการจัดเก็บข้อมูลคลาวด์ ประยุกต์ใช้สำหรับโทรเวชกรรม ในการติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย สนับสนุนการรักษาแบบแพทย์ทางไกล ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล , การวิจัย "เครื่องตรวจวัดค่าออกซิเจน ที่ละลายในน้ำ สำหรับเฝ้าระวังวิกฤติในสัตว์น้ำ" เป็นการใช้อินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อเซ็นเซอร์วัดคุณภาพน้ำ ผ่านการสื่อสารไร้สาย เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่าย ต้นทุนต่ำ ช่วยให้เกษตรกรสังเกตุการณ์ ดูแลบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้สะดวก ช่วยรักษาคุณภาพน้ำ ลดการสูญเสีย ที่เกิดจากภาวะขาดออกซิเจน 
รวมทั้ง "การจัดตั้งห้องความดันลบแบบเคลื่อนที่" เพื่อพระราชทานโรงพยาบาล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , โรงพยาบาลในจังหวัดพังงา และโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ด้านระบาดวิทยา และการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อมาประยุกต์ใช้ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการตรวจรักษาพยาบาล และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสามารถติดตั้ง และเคลื่อนย้ายได้ง่าย ตามรูปแบบการให้บริการแบบ One Stop Service หรือ ตรวจรักษาในจุดบริการเดียว
เวลา 13.43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังอาคารสุรพัฒน์ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประจำปีการศึกษา 2562 ในการนี้ มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 4 คน และมีผู้ทำคุณประโยชน์ยิ่งแก่มหาวิทยาลัยฯ เข้ารับพระราชทานรางวัลเกียรติคุณเข็มกิตติการทองคำ จำนวน 1 คน พร้อมกันนี้มีผู้สำเร็จการศึกษา เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งสิ้น 3,166 คน 
ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับพระราชทานปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และได้คะแนนยอดเยี่ยมสาขาวิชาต่าง ๆ เข้ารับพระราชทานเข็มทองคำ จำนวน 36 คน และมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลศรีปีบทอง ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักศึกษาที่มีผลงาน และความสามารถดีเด่นเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักศึกษาทั่วไป เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ จำนวน 1 คน
ในโอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า "บัณฑิตทั้งหลายคงจะทราบดีอยู่แล้วว่า การประกอบกิจการงานเพื่อสร้างสรรค์ความสำเร็จและความเจริญ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความรู้ ความรู้นั้นมีหลายอย่าง นอกจากความรู้ในหลักวิชา ดังที่บัณฑิตได้ศึกษาเล่าเรียนมา กับความรู้เกี่ยวกับงานที่ปฏิบัติ ซึ่งบัณฑิตจะต้องศึกษาทำความเข้าใจต่อไปแล้ว ยังมีความรู้รอบตัวในเรื่องต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาตนพัฒนางานของแต่ละคนด้วย ทุกคนจึงต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งความรู้ในหลักวิชา ความรู้ความเข้าใจในงาน และความรู้รอบตัว เมื่อจะศึกษาเรื่องใดก็ควรศึกษาให้รู้แน่ชัด และให้ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม จะได้เลือกสรรความรู้ที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ และที่พอเหมาะพอดีกับงาน มาใช้ปฏิบัติกิจการงานให้สำเร็จผลได้ หากบัณฑิตจะนำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาให้เข้าใจ แล้วตั้งใจขวนขวายสร้างเสริมเพิ่มพูนความรู้ ด้วยสติความระลึกรู้ตัว และด้วยความเฉลียวฉลาดสามารถดังที่กล่าว ก็มั่นใจได้ว่า แต่ละคนจะสามารถประกอบกิจการงานให้เจริญก้าวหน้า บังเกิดผลเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง แก่ส่วนรวม และแก่ชาติบ้านเมือง ได้อย่างสมบูรณ์พร้อม"

แท็กที่เกี่ยวข้อง